TNN online บาทอ่อนค่าลง เปิดที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นผลประกอบการบจ.Q3 ถ้อยแถลงจากจนท.เฟด

TNN ONLINE

Wealth

บาทอ่อนค่าลง เปิดที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นผลประกอบการบจ.Q3 ถ้อยแถลงจากจนท.เฟด

บาทอ่อนค่าลง เปิดที่  33.42 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นผลประกอบการบจ.Q3 ถ้อยแถลงจากจนท.เฟด

ธนาคารกรุงไทย เผยเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ ที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า สัปดาห์นี้ ลุ้นผลประกอบการบจ.Q3 ถ้อยแถลงจากจนท.เฟด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.42 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์  สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็เริ่มทยอยออกมาดีกว่าคาด


สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 พร้อมกับติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ ประธานเฟด ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะเริ่มลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายน  โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ฝั่งสหรัฐฯ – ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดต่อประเด็นการทยอยลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายนจะยังคงเป็นที่จับตาของตลาด ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านออกมาให้สัมภาษณ์ รวมถึงประธานเฟด Powell ในวันศุกร์  นอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตลาดจะให้น้ำหนักรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่อาจส่งผลต่อการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ อย่าง Netflix และ Tesla ซึ่งเราประเมินว่า ตลาดจะตอบรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในเชิงบวก หนุนให้ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม โดยตลาดประเมินว่า ภาคการบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Markit Services PMI) เดือนตุลาคม ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.2 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว)


ฝั่งยุโรป – ตลาดจะติดตามทิศทางของเงินเฟ้อในฝั่งยุโรป ท่ามกลางปัญหาด้าน Supply Chain ที่หนุนราคาต้นทุนสินค้า รวมถึง ราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยในฝั่งอังกฤษ ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกันยายน จะอยู่ในระดับสูงที่ 3.2% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อาจกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ เช่นเดียวกับในฝั่งยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ที่ระดับ 3.4% ซึ่งอาจหนุนการทยอยลดคิวอีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป หลังข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาต่างสะท้อนภาพโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เผชิญปัญหา Supply chain disruption โดย PMI ภาคการผลิตของทั้งยูโรโซนและอังกฤษ ในเดือนตุลาคม จะชะลอลงสู่ระดับ 57 จุด และ 56 จุด ตามลำดับ ส่วน ภาคการบริการก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน จากปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้ผู้บริโภคอาจชะลอการใช้จ่ายลงบ้าง โดย PMI ภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ จะลดลงสู่ระดับ 55.5 จุด และ 54.5 จุด ตามลำดับ


ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยตลาดมองว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวหนักในไตรมาสที่ 3 โดยจะขยายตัวได้ราว +5.0%y/y จากที่โตถึงเกือบ 8% ในไตรมาสก่อน จากปัญหาการระบาดรวมถึงปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจของจีนก็เผชิญแรงกดดันจากการเข้ามาคุมเข้มภาคธุรกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะในฝั่งภาคการผลิตที่เผชิญภาวะขาดแคลนพลังงาน จนบางอุตสาหกรรมถูกจำกัดกำลังการผลิต นอกจากนี้ ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะถูกสะท้อนผ่าน ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนกันยายนที่จะโตเพียง 3.8%y/y ชะลอลงจากที่โตได้ +5.3% ในเดือนก่อน เช่นเดียวกับ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ภาวร (Fixed Assets Investment) ที่นับตั้งแต่ต้นปีจะโตชะลอลงเหลือ +7.8%y/y ทั้งนี้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะฟื้นตัวดีขึ้นและขยายตัวกว่า +3.5%y/y ตามการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อนึ่ง การชะลอตัวหนักของเศรษฐกิจจีนชี้ว่าทางการจีนอาจใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (LPR) ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% สำหรับ LPR อายุ 1 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการบริการ สะท้อนผ่าน Services PMI เดือนตุลาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51 จุด หลังสถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่นดีขึ้นต่อเนื่อง


ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า ดุลการค้าในเดือนกันยายนมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องราว 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงอยู่ในระดับสูงและโตได้กว่า +35%y/y หนุนโดยราคาสินค้าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหา Supply chain disruption รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนกันยายน ขณะที่ ยอดการส่งออก (Exports) จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวราว +13%y/y ตามการฟื้นตัวทั่วโลกหลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มสงบลงและหลายประเทศก็เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ แต่ควรเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายใน อาทิ ปัญหาน้ำท่วม รวมถึง สถานการณ์ COVID ที่ยอดการระบาดยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาทองคำก็อาจส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้เช่นกัน (ราคาทองคำย่อตัวลง อาจเห็นโฟลว์ซื้อทองคำในสกุลเงินดอลลาร์ กดดันเงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่หากราคาทองคำปรับตัวขึ้น อาทิ แตะแนวต้านสำคัญ อาจมีแรงขายทำกำไร หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น)


ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ในสัปดาห์นี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด (Risk-On) อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจไม่อ่อนค่าไปมาก หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงหนุนการลดคิวอีในเดือนหน้าและข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมดีกว่าเศรษฐกิจอื่นๆ


นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มแผ่วลงในระยะสั้นสอดคล้องกับการเกิด Bearish Divergence ซึ่งเรามองว่า เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายดอลลาร์ ขณะที่ ผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์   โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.10-33.60 บาท/ดอลลาร์   ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.50 บาท/ดอลลาร์


ที่มา : นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย 

ภาพประกอบ : AFP


ข่าวแนะนำ