TNN online เงินบาทวันนี้ "ทรงตัว" ที่ระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ มองแนวโน้มแข็งค่า

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทวันนี้ "ทรงตัว" ที่ระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ มองแนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทวันนี้ ทรงตัว ที่ระดับ  33.18 บาทต่อดอลลาร์ มองแนวโน้มแข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ขณะตลาดกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มการเกิด Stagflation

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.18 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า   โดยตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดลดความกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มการเกิด Stagflation ขณะที่รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวดีขึ้น และเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดจะหันมาให้น้ำหนักรายงานผลประกอบการของบรรดาจดทะเบียนมากขึ้น 


ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง โดย ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.7% เช่นเดียวกับ ดัชนี Dowjones ที่ปรับตัวขึ้นกว่า +1.6% โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน หลังผลประกอบการของ Bank of America, Citigroup และ Morgan Stanley ออกมาดีกว่าคาด

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็ปรับตัวขึ้นราว +1.6% เช่นกัน นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ  Adyen +4.4%, ASML +3.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kering +2.8%, Louis Vuitton +2.0% ตามแนวโน้มการทยอยเปิดประเทศในหลายพื้นที่ซึ่งจะช่วยหนุนยอดขายของสินค้าฟุ่มเฟือย   


ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลกต่างย่อตัวลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ โดย บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง 4bps สู่ระดับ 1.51% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามทิศทางของนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักที่จะเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ การทยอยคิวอี รวมถึงการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางบางแห่ง นอกจากนี้ หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้กังวลมาก เชื่อว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ 


ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นบางส่วนทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอมีโมเมนตัมช่วยพยุงอยู่บ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงต่อเนื่อง ดีกว่าคาด หนุนแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 94 จุด นอกจากนี้ การเคลื่อนไหว Sideways ของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า อาจเริ่มเห็นผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญ อีกทั้ง ราคาทองคำก็มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง หากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นตามการทยอยลดคิวอีของเฟดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนหน้าได้


สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกันยายน ที่อาจหดตัวราว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า กดดันโดยยอดขายรถยนต์ที่ลดลง ซึ่งหากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น +0.2%  สะท้อนว่าการใช้จ่ายในสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าระดับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ เรายังมองว่า การใช้จ่ายในสหรัฐฯ จะทยอยฟื้นตัวได้ดี หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนตุลาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 73.5 จุด


และนอกเหนือจากการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อตลาดการเงินในระยะนี้ คือ การรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถ้าหากงบออกมาดีกว่าคาดและแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคตก็จะช่วยให้ตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ 


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจทยอยเข้ามาซื้อหุ้นไทยบนการเก็งกำไรธีม Reopening นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุน หากผู้ค้าทองคำเริ่มขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ขายทำกำไรทองคำบนสกุลเงินดอลลาร์ แล้วแลกกลับเป็นเงินบาท) ซึ่งจากปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว ทำให้เรามองว่า ในระยะสั้นคงยังไม่เห็นการกลับไปอ่อนค่าหนักของเงินบาทและแนวต้านสำคัญของเงินบาทก็ขยับลงมาอยู่ในโซน 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ 


ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่ เรายังมองว่า เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ และการจะกลับไปแข็งค่าหนักในระยะสั้น อาทิ เช่น แข็งค่ากลับไปแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แบบในรอบก่อนหน้า อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนัก อีกทั้ง สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ล่าสุด ก็ดูมีแนวโน้มน่ากังวลอยู่ หลังยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น


อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนสูงและมีการกลับทิศทางได้เร็ว ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรพิจารณาใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ การใช้ Options หรือบัญชี FCD ควบคู่ไปกับการใช้ Forward  โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์


เงินบาทวันนี้ ทรงตัว ที่ระดับ  33.18 บาทต่อดอลลาร์ มองแนวโน้มแข็งค่า



ที่มา : นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย 

ภาพประกอบ : TNN Online 

ข่าวแนะนำ