TNN online พิษโควิด! ฉุดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ 3Q64 ร่วง

TNN ONLINE

Wealth

พิษโควิด! ฉุดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ 3Q64 ร่วง

พิษโควิด! ฉุดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ 3Q64 ร่วง

โบรกคาดงบไตรมาส 3/64 หุ้นกลุ่มแบงก์ 6 แห่งฟันกำไรสุทธิ 3 หมื่นล้านหดตัว 9% QoQ หลังเผชิญโควิดรายได้ลด-หนี้เสียพุ่ง คาดแบงก์ตั้งสำรองรับความเสี่ยงลูกหนี้ไว้แล้ว หวังคลายล็อกดาวน์หนุนเศรษฐกิจฟื้นดันหุ้นธนาคารสดใสปีหน้า

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการ สายงานวิจัย  บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า  การประกาศงบไตรมาส 3/64 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (6 แห่ง ไม่รวม BAY,TTB )คาดว่ากำไรสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท (Bloomberg Consensus ณ 1 ต.ค. 64 อยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท) ลดลงประมาณ 9% QoQ (+41% YoY จาก Credit Cost ต่ำลง) จากประเมินกำไรก่อนสำรอง (PPOP) ติดลบ 7% QoQ (+10.7% YoY) เพราะรายได้รวมหดตัว 4% QoQ 


ทั้งนี้เป็นผลมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยกลุ่มฯ (Non-NII)  โดยรายได้ค่าธรรมเนียมฯ อ่อนตัว 9% QoQ (ทรงตัว YoY) ตามธุรกรรมทางการเงินลดลง เพราะการ Lockdown ช่วง ก.ค. – ส.ค.  ประกอบกับรายการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน(FVTPL) งวดก่อนมีฐานสูงจาก BBL


ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิกลุ่มฯ (NII) คาดทรงตัวจากงวดก่อน แม้ประเมินสินเชื่อเติบโต 1.7% QoQ (อ้างอิงจาก ธ.พ. 1.1 ณ สิ้น ส.ค. 64) แต่คาด NIM กลุ่มฯ อ่อนตัวมาที่ 2.7% จาก 2.8% ในงวด 2Q64จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ย่อมส่งผลต่อ EIR โดยฐานรายได้รวมที่ลดลงในงวดนี้ คาดการณ์ส่งผลให้ Cost to income ratio เพิ่มมาที่ 45.4% จาก 43.7% ในงวดก่อน 


ภาพรวมข้างต้นไม่สามารถชดเชยได้กับแนวโน้ม Credit Cost เฉลี่ยกลุ่มฯ ต่ำลงราว 10 bps QoQ อยู่ที่ 1.5% (3Q63 ที่ 1.8%) จากมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ช่วยประคองคุณ ภาพสินทรัพย์กลุ่มฯในระยะสั้น นอกจากนี้งวดก่อน ธ.พ. อย่าง BBL และ KBANK มีการตั้งสำรอง (ECL) ล่วงหน้าบางส่วน 


อย่างไรก็ตาม ทิศทางกำไร 3Q64 ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 โดยประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักจะอยู่ที่สัดส่วนลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือรอบใหม่, ดอกเบี้ยค้างรับ และนโยบาย Credit Cost ของแต่ละธนาคาร 


ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมิน ธ.พ. ที่รายงานกำไรสุทธิเด่น YoY นำโดย KTB (+84% YoY) และSCB (+63% YoY)


นอกจากนี้มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยผ่านจุดเลวร้ายสุดแล้วในงวด 3Q64  และเชื่อว่าการกระจายวัคซีน COVID-19 ในไทย รวมถึงพัฒนาการด้านยารักษา COVID-19 อย่าง Molnupiravir ช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต 


ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับประชาชนมากขึ้น หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินอย่างต่อภาพรวมเป็นปัจจัยหนุนกำไรสุทธิปี 65 – 66 ขยายตัวเฉลี่ย 8% YoY จากแนวโน้มCredit Cost ต่ำลง ภายใต้มาตรการผ่อนผันการจัดชั้นของ ธปท.ซึ่งเชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ROE ฟื้นตัวในทิศทางเดียวกัน 


ทั้งนี้เลือก Top pick ที่มีจุดเด่นด้าน Digital อย่าง KBANK (FV@154)   SCB  (FV@136)  รวมถึงได้ประโยชน์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในระยะถัดไป เนื่องจากโครงสร้างพอร์ตสินเชื่ออิงกับภาคการท่องเที่ยวสูงในกลุ่มฯ ตามด้วย TISCO  (FV@104) จากงบดุลแกร่งและคาดหวัง Div Yield สูงราว 7% - 8% 


สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 65 เริ่มฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร  ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าจีดีพีบวก 3% ขณะที่ธปท.ประเมินจีดีพีบวก 3.9% จากปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้กำไรสุทธิกลุ่มธนาคาร (8 ธนาคาร) ปี  65 ขยายตัว 7% YoY(เทียบบนฐานที่ BAY ไม่มีกำไรจากการขาย TIDLOR) อยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท และต่อเนื่อง 15% YoY เป็น 1.91 แสนล้านบาท 


ส่วนปี 66 มาจากทิศทาง Credit Cost กลุ่มฯ ลดลงจาก 1.69% ในปี  64 (ปี  63 ที่ 1.89%) มาอยู่ที่ 1.57% ในปี 65 และ 1.43% ในปี  66  จากทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 


นอกจากนี้มาตรการผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวตามแนวทางของ ธปท. สิ้นสุดปี  66 ช่วยให้ ธ.พ. มีระยะเวลาในการบริหารจัดการ ECL ให้สอดรับกับความเสี่ยงของลูกหนี้และเป็นไปตามเป้าหมายทางการเงินของแต่ละธนาคาร 


ด้านรายได้รวมกลุ่มฯ ปี 65 – 66 ประเมินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% จากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิกลุ่มฯ เชื่อว่าสูงขึ้นตามความต้องการใช้สินเชื่อบน Credit Risk ของลูกหนี้เริ่มต่ำลงเอื้อต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่ม High Yield อย่างจำนำทะเบียนรถยนต์และสินเชื่อบุคคลทั้งช่องทางดั้งเดิมและช่องทาง Digital ภาพรวมคาด ROE กลุ่มฯ จะทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปี  66 ตามฐานกำไรกลุ่มฯ สูงขึ้น


ขณะที่แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์งวด 3Q64 หากพิจารณาจากข้อมูลสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) ตาม ธ.พ. 1.1 ณ สิ้น ส.ค. 64 ทรงตัวจากสิ้น มิ.ย. 64 แม้ทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงอย่างสินเชื่อ ณ สิ้น ส.ค. 64 เพิ่มขึ้น 0.9% QTD มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19


แต่ภาพทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วง 3Q64 เชื่อว่ามีลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถไปต่อได้ องค์ประกอบรวมทำให้ฝ่ายวิจัยคาด NPL /Loan กลุ่มฯ ณ สิ้นงวด 3Q64 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจาก 4% ณ สิ้นงวดก่อน และเชื่อว่ายังอยู่ในการบริหารจัดการของแต่ละธนาคาร 


ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ระยะยาว มีมาตรการผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้จาก ธปท. ถึงปี 66 แม้ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ที่แท้จริงยากต่อการประเมิน แต่ในอีกแง่มุมช่วยให้ธนาคารมีระยะเวลาในการบริหารจัดการ ECL ของลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา (ณ สิ้นงวด 2Q64 อยู่ที่ 4% - 16% ของพอร์ตสินเชื่อ) 


โดยความเห็นฝ่ายวิจัยการตั้ง ECL ของแต่ละธนาคารไม่ควรหย่อนเกินไป เพื่อรองรับความเสี่ยงที่ลูกหนี้อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขใหม่ได้  


อย่างไรก็ตาม รายการดอกเบี้ยค้างรับกลุ่มฯ ณ สิ้นงวด 2Q64 ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท (+3.5% QoQ,+5% YTD) เชื่อว่าทิศ ทางยังคงเพิ่มขึ้น ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และมาตรฐาน TFRS 9 และต้องใช้เวลาลูกหนี้จึงจะมีรายได้มาชำระ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าตามสัญญาของแต่ละธนาคาร ได้กำหนดดอกเบี้ยค้างรับให้อยู่ในช่วงท้ายของการผ่อนชำระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


พิษโควิด! ฉุดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ 3Q64 ร่วง



ที่มา : นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการ สายงานวิจัย  บล.เอเซียพลัส 

ภาพประกอบ : TNN Online ,พิกซาเบย์ 


ข่าวแนะนำ