TNN online ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 482.54 จุดขานรับเศรษฐกิจเชิงบวก

TNN ONLINE

Wealth

ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 482.54 จุดขานรับเศรษฐกิจเชิงบวก

ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 482.54 จุดขานรับเศรษฐกิจเชิงบวก

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดพุ่ง 482.54 จุด ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจเชิงบวก

วันนี้ (2 ต.ค. 64)ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่เป็นไปในเชิงบวก, ความคืบหน้าในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และแนวโน้มการผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,326.46 จุด เพิ่มขึ้น 482.54 จุด หรือ +1.43%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,357.04 จุด เพิ่มขึ้น 49.50 จุด หรือ +1.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,566.70 จุด เพิ่มขึ้น 118.12 จุด หรือ +0.82%

แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 1.4%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 2.2% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 3.2%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวผันผวนในช่วงเช้าวันศุกร์ แต่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงท้ายตลาด นำโดยหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ หลังทำเนียบขาวประกาศว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเจรจาเกี่ยวกับร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังมีการอภิปรายในรัฐสภาสหรัฐ

นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค.นี้ และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน

หุ้นบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 8.4% ขานรับข่าวดีจากการที่ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกรณีฉุกเฉิน หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

ทั้งนี้ หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก ยกเว้นหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ที่ปิดลบ โดยราคาหุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ดิ่งลงอย่างหนัก หลังมีการเปิดเผยประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันศุกร์ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญนั้น พุ่งขึ้น 3.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2534 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.5% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.2%

ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของดัชนี PCE พื้นฐานมีสาเหตุจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการใช้เชื้อเพลิงในระดับสูงกว่าปกติ

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี และเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2534 ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค.

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.7% ขณะเดียวกัน รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ส่วนอัตราการออมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 9.4% สู่ระดับ 1.71 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนก.ค.

ข้อมูลจาก : IQ

ภาพจาก   :  AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง