TNN online ต่างชาติ-สถาบันทิ้งหุ้นไทย ฉุดดัชนีปิดลบ

TNN ONLINE

Wealth

ต่างชาติ-สถาบันทิ้งหุ้นไทย ฉุดดัชนีปิดลบ

ต่างชาติ-สถาบันทิ้งหุ้นไทย  ฉุดดัชนีปิดลบ

ตลาดหุ้นไทยปิดลบ 1.96 จุดแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน- อาหาร- ขนส่ง หลังจากราคาปรับขึ้นแรงมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ดัชนีไร้ปัจจัยใหม่ ขับเคลื่อน จับตาประชุมอีซีบี-ศบค.ชุดใหญ่ มองแนวโน้มพรุ่งนี้แกว่งไซด์ กรอบแนวรับที่ 1,635 จุด แนวต้าน 1,655 จุด เน้น selective buy

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยถึงภาวะตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,648.37  จุด  ลบ 1.96 จุด หรือ 0.12% ระหว่างวันเคลื่อนไหวสูงสุด 1,655.04  จุด ต่ำสุด 1,644.56  จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 78,324.98  ล้านบาทว่า ภาพรวมตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญแกว่งผันผวนกรอบแคบยกเว้นญี่ปุ่นที่บวกขึ้นแรง เนื่องจากมีปัจจัยเฉพาะตัวจากความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ 

หลังนายกรัฐมนตรีคนเดิมลาออก ส่วนตลาดหุ้นไทยแกว่งในกรอบ  1,644-1,655 จุด มูลค่าการซื้อขายแผ่วลง เพราะขาดปัจจัยใหม่ขับเคลื่อน ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการใหม่ ๆ 


สำหรับยอดผู้ติดเชื้อวันนี้อยู่ที่ 1.39 หมื่นราย น้อยกว่าตัวเลขผู้ออกจากรพ. 1.7 หมื่นรายและผู้เสียชีวิต 187 ราย ซึ่งภาพหนุนหุ้นเปิดเมืองแต่ตลาดรับรู้ไปเรียบร้อยแล้ว


นอกจากนี้การที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ลดลง 0.02% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการลดครั้งแรกรอบ 5 เดือนสะท้อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ได้ดีมากนักทำให้มีแรงเทขายเทกำไรหุ้นบางออกมา โดยหุ้นที่กดตลาดในวันนี้เช่น อาหาร พลังงานและขนส่ง เนื่องจากราคาปรับขึ้นร้อนแรงก่อนหน้านี้ ส่วนหุ้นที่ปรับตัวขึ้นวันนี้ เช่น DELTA บวก 34.00 บาท เพิ่มขึ้น 4.66% ดันตลาด 3.7จุด  BANPU 1.50 บาทหรือเพิ่มขึ้น 13.16%


ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยวันนี้พบว่า สถาบันขายสุทธิ1,965.05 ล้านบาท ต่างประเทศขายสุทธิ 991.03ล้านบาท บัญชีบล.ซื้อสุทธิ 537.96 ล้านบาท ในประเทศซื้อสุทธิ 2,418.12ล้านบาท


สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ให้น้ำหนักการประชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ต้องดูว่าส่งสัญญาณลดระดับนโยบายการเงินผ่อนคลายหรือไม่ หลังจากที่เงินเฟ้อปรับขึ้น 3% ส่วนบ้านเราเน้นไปการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ในวันที่ 10 ก.ย.นี้  ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธานว่า จะทบทวนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะมาตรา 5 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร หลังจากที่จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ 


รวมถึงการพิจารณามาตรา 9 ซึ่งใช้ในการออกข้อกำหนดต่างๆ ว่าจะกลับกลับไปใช้กฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทนหรือไม่


อย่างไรก็ตาม มองแนวโน้มหุ้นไทยแกว่งไซด์เวย์ประเมินกรอบแนวรับที่ 1,635 จุด แนวต้านที่ 1,655 จุด เน้นselective buy  เช่น AOT  ([email protected])  เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงภายใต้จุดเด่นฐานะการเงิน+การเป็นผู้ให้บริการสนามบินหลัก จึงเด่นในเรื่องความแน่นอนการฟื้นตัวคาดนับจากปีบัญชี 2566 ขณะที่หุ้นรับความผิดหวังฟื้นตัวช้าแล้วโดยราคาหุ้นปัจจุบันยัง Laggard SET Index อยู่มากถือเป็นโอกาสสะสม


หุ้นตัวต่อมาคือ M([email protected]) งบดุลแกร่งพอผ่านวิกฤติไปได้ฝ่ายวิจัยคาด 3Q64 ขาดทุนราว 335 ล้านบาท เป็นจุดต่ำสุดของปี และคาดการณ์ Turn Around เป็นกำไรราว90 ล้านบาทในงวด 4Q64 อานิสงค์จากการกระจายวัคซีน COVID-19ขณะที่สถานะการเงินเป็น Net Cash ราว 7 พันล้านบาท มองว่า M อยู่ได้โดยไม่มีปัญหาสภาพคล่อง  


ส่วนราคาหุ้นปรับตัวลงตั้งแต่ พ.ค. ราว 0.5% สวนทาง SETFOOD ที่ปรับเพิ่ม 2.4% ตอบรับปัจจัยลบพอสมควร จนราคาอยู่บริเวณ IPO เชื่อเป็นจุดสะสมเพื่อรอการฟื้นตัวของราคาหุ้นหลัง COVID-19 ผ่อนคลายมูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 2564 เท่ากับ 58 บาท มี Upside สูงเกือบ 10%


ปิดท้่ายที่ ADVANC ([email protected]) กำไร 2Q6ได้ดี โต 6%qoq ตามคาด ได้ผลบวกการควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่โควิดยังระบาดและรายการพิเศษบางส่วน บวกกับอานิสงส์ความเป็นผู้นำธุรกิจมือถือ ช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ บรรเทาผลกำลังซื้อและการเติบโตธุรกิจรอง กำไรปกติ 1H64 เป็น 50% ของกำไรทั้งปี


ข่าวแนะนำ