TNN online เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง รับข่าวตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯต่ำกว่าคาด

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง รับข่าวตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯต่ำกว่าคาด

เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง  รับข่าวตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯต่ำกว่าคาด

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์กดดอลลาร์อ่อนค่า จับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าเฟดต่อแผนสนับสนุนลดคิวอีอาจช่วยหนุนดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็ง ค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 32.62  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทในระยะสั้น แกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากบรรดาผู้เล่นต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดว่าจะดีขึ้น หรือ แย่ลง หลังการผ่อนคลาย Lockdown ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติต่างรอดูทิศทางการระบาดก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยต่อไป


ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น  ต้องจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพราะถ้อยแถลงสนับสนุนการลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงหลังการจ้างงานสหรัฐฯ แย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี ควรจับตาความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากทิศทางของมาตรการคิวอีโดย ECB เพราะหาก ECB เริ่มส่งสัญญาณพร้อมลดคิวอี ก็อาจหนุนให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้


ทั้งนี้เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกอาจเข้ามาทยอยขายดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่ากลับไปที่ระดับดังกล่าวได้ ขณะเดียวกัน โซน 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังคงแนวรับหลักและเป็นระดับที่ยังคงมีผู้นำเข้าบางส่วนรอทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์อยู่มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.25-32.75  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ



สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องหลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จากปัจจัยการระบาดระลอกใหม่ รวมถึง มาตรการพิเศษช่วยเหลือผู้ตกงาน


ไฮไลท์สัปดาห์นี้ จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดจะรอลุ้นการส่งสัญญาณปรับลดคิวอีรวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะในประเด็นการปรับลดคิวอี เช่นกันโดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้


ฝั่งสหรัฐฯ  แม้ว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนสิงหาคม จะเพิ่มขึ้นเพียงราว 2.4 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ที่ 7.5 แสนตำแหน่ง โดยรวมอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ปรับลดลงเหลือ 5.2% นอกจากนี้ ค่าจ้าง (Average Hourly Earning) ก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า +4.3%y/y สะท้อนว่า ตลาดแรงงานโดยรวมยังเดินหน้าฟื้นตัวและยังมีความต้องการแรงอยู่ในระดับสูง จนบรรดานายจ้างกล้าที่จะให้ค่าจ้างที่สูงขึ้นเพื่อจูงใจ 


ซึ่งตลาดมองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ชะลอตัวในระยะสั้น จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 จะไม่ได้ส่งผลให้เฟดเปลี่ยนใจที่จะลดคิวอีในปีนี้ 


อนึ่งในสัปดาห์นี้ ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด (วันพฤหัสฯ Williams, Daly และ Evans ส่วนวันศุกร์ Bowman และ Mester) เพื่อวิเคราะห์มุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเฟด รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลดคิวอี ว่าเฟดยังคงมุมมองลดคิวอีในปีนี้ หรือไม่ หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมล่าสุดแย่กว่าคาด


ส่วนยุโรป   บรรดานักวิเคราะห์รวมถึงนักลงทุนสถาบันอาจจะยังคงกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเศรษฐกิจเยอรมนี จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Survey) เดือนกันยายน อาจปรับลดลงเหลือ 30.5 จุด จากราว 40 จุด ในเดือนก่อนหน้า 


ทั้งนี้ไฮไลท์ของข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดจะจับตาการส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีของ ECB หลังเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคาสินทรัพย์เสี่ยงยุโรปต่างปรับตัวสูงขึ้น (หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นกว่า 21% ในปีนี้) อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อโดยรวมก็เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากนั้น อาจมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี หาก ECB ย้ำจุดยืนเดินหน้าทำคิวอีผ่านโครงการ PEPP ไม่น้อยกว่า 85 พันล้านยูโร ต่อเดือน ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า ECB ยังคงช่วยสนับสนุนสภาพคล่องต่อ ซึ่งจะช่วยให้สินทรัพย์เสี่ยงยุโรปสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้


เอเชียตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในโซนเอเชียจะทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.10% พร้อมกับคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 3 ปี ที่ 0.10% เช่นกัน ส่วนธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ที่ระดับ 1.75% เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการระบาดระลอกใหม่ทั่วโลกจะกดดันให้ภาคการค้าของจีนขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยยอดการส่งออก (Exports) เดือนสิงหาคม อาจโตเพียง +17%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะขยายตัวราว +27%y/y 


ขณะที่ไทยผู้เล่นในตลาดจะติดตามแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 หลังจากผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างใกล้ชิด ซึ่งเรามองว่า การผ่อนคลาย Lockdown ที่ดูจะรีบเร่งเกินไป อาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า 


ทั้งนี้การเร่งแจกจ่ายวัคซีน พร้อมกับการระดมตรวจหาเชื้อเชิงรุก คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์การระบาดให้ดีขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณผ่อนคลาย Lockdown อาจทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) อาจพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยสู่ระดับ 41 จุด


สำหรับผลกระทบของการระบาดที่รุนแรงในเดือนสิงหาคม จนกดดันให้การใช้จ่ายของประชาชนซบเซาหนัก จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ชะลอลงสู่ระดับ 0.40% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ก็จะลดลงเหลือ 0.17% ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเริ่มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ หากการใช้จ่ายของผู้คนฟื้นตัวได้ดี โดยปราศจากการระบาดระลอกใหม่ๆ 


เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง  รับข่าวตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯต่ำกว่าคาด

ข่าวแนะนำ