TNN online เงินบาทเปิดตลาดขยับแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทเปิดตลาดขยับแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาดขยับแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ  32.44 บาทต่อดอลลาร์

ธนาคารกรุงไทยเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น มองอาจผันผวนมากขึ้น ตามเงินดอลลาร์ได้ แนวโน้มฟันด์โฟลว์ลดลง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.44 บาทต่อดอลลาร์  แข็งค่าขึ้น  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.48 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.4 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับ ยอดสั่งซื้อสินค้าของโรงงาน (Factory Order) ในเดือนกรกฎาคม ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 0.4% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตที่ยังคงคึกคักอยู่ ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ต่างปรับตัวสูงขึ้น ดันให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดย ดัชนี Dowjones ปิดบวก +0.37% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.28% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงได้รับอานิสงส์จากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ทรงตัวใกล้ระดับ 1.30% รวมถึงเทรนด์การกลับมาลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth) อย่าง หุ้นเทคฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.14%


ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.11% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มบริษัทพลังงาน Eni +1.3%, Total Energies +1.3% และหุ้นในกลุ่มเทคฯ Infineon Tech. +1.7%, ASML +1.1% 


ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันนี้ เพื่อจับประเมินมุมมองของเฟดต่อการปรับลดคิวอี รวมถึงแนวโน้มการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.28% ทั้งนี้ หาก ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย


ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดการเงินยังคงเดินหน้าเปิดรับควาามเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็มีการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง ก่อนรับรู้ Nonfarm Payrolls ในวันนี้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.21 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจผันผวนหนักในช่วงก่อนและหลังการรายงาน Nonfarm Payrolls โดย เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังไว้ 


สำหรับวันนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานผ่าน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้น 7.5 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 5.2% ซึ่งหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Delta มากนัก เรามองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณการลดคิวอีที่ชัดเจนได้ในการประชุมเดือนกันยายน จากนั้นเฟดอาจประกาศลดคิวอีได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนและเริ่มลดคิวอีในเดือนธันวาคม อนึ่งปัญหาการระบาดระลอกใหม่ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามว่าจะกดดันเศรษฐกิจอย่างไร


ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น ตามเงินดอลลาร์ได้ หากผู้เล่นในตลาดมีการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ยอด Nonfarm Payrolls ขณะเดียวกัน ในฝั่งเงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น ตามเงินดอลลาร์ได้  การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติก็อาจจะเริ่มลดลง หลังตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาใกล้แนวต้านเชิงเทคนิคัล นอกจากนี้ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจับตาแนวโน้มสถานการณ์การระบาดในประเทศหลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก่อนที่จะตัดสินใจ เพิ่ม หรือ ลด สถานะถือครองสินทรัพย์ไทยต่อไป


อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะการตรวจเชิงรุกยังทำได้ไม่ดีพอ จึงเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ๆ หลังการผ่อนคลาย Lockdown ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.50 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาดขยับแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ  32.44 บาทต่อดอลลาร์

ข่าวแนะนำ