TNN online พิษโควิด ! เงินฝากท่วมแบงก์ กูรูชี้ช่องลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ

TNN ONLINE

Wealth

พิษโควิด ! เงินฝากท่วมแบงก์ กูรูชี้ช่องลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ

พิษโควิด ! เงินฝากท่วมแบงก์   กูรูชี้ช่องลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ

กูรูชี้ช่องลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ 1-2 ปีข้างหน้า หลังเงินฝากท่วมแบงก์ทะลุ 1.6 ล้านล้านบาทในยุคโควิด เผยสัดส่วนมากกว่า 91% มาจากบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่จะลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนดีตามไปดูกันเลย

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB CIO  เปิดเผยว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ultra-low yields) จะยังอยู่ต่ออีก 1-2 ปีแม้ Fed จะเริ่มทำ QE tapering ภายในปีนี้  


ส่วนประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ปริมาณเงินฝากในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยกว่า 91%มาจากบัญชีเงินฝากมาก กว่า 1  ล้านบาทขึ้นไป  เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19  ทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจพักเงินไว้ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย  แนะลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงและระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน โดยการลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลาย เช่น   กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ภาครัฐ และ เอกชนในประเทศ รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ที่มีการจำกัดความเสี่ยงขาลง เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และไม่เสียภาษี หัก  ณ ที่จ่าย 


ปริมาณเงินฝากในหลายประเทศรวมถึงในไทยเพิ่มขึ้นมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยในไทยปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้นกว่า 91% มาจากบัญชีที่มียอดเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท


ขณะที่เงินออมส่วนเกินทั่วโลกได้ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2Q2020 ถึง 1Q2021 นำโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และ กลุ่มยูโรโซน ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1. การใช้มาตรการควบคุมการระบาดในแต่ละประเทศ เช่น การออกข้อจำกัดในการเดินทาง ส่งผลกดดันการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 


2. สถานการณ์การระบาดที่ไม่แน่นอน และการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้ารักษาโรงพยาบาล ทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่าย และมีการกันเงินออมฉุกเฉินมากขึ้น ส่วนบริษัทก็ต้องกันสภาพคล่องเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนเช่นกัน 


 3. มาตรการเยียวยาจากทางการในแต่ละประเทศ โดยเงินออมส่วนเกินทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ซึ่งรวมถึงเงินฝาก สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือน ก.พ.2020 ถึง มิ.ย.2021 ปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยกว่า 91% มาจากจำนวนเงินฝากในบัญชีขนาดใหญ่มากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป 


ภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ultra-low yields) จะอยู่ไปอีก 1-2 ปี ในช่วงวิกฤต COVID-19 ธนาคารกลางหลักแห่งต่างๆ ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน อัตราผลตอบแทนพันบัตร และตราสารหนี้ภาคเอกชน ของหลายประเทศ ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างช้าๆ ตามทิศทางนโยบายดอกเบี้ย ส่งผลให้ภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ultra-low yields) จะยังอยู่ไปอีก1-2 ปี ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แม้จะส่งสัญญาณการทำ QE tapering ในปีนี้ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในปี 2023


อย่างไรก็ดี การคุ้มครองเงินฝากกำลังลดลง แม้จำนวนผู้ฝากเงินที่ถูกกระทบคิดเป็น 2% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด แต่จำนวนเงินฝากที่ถูกกระทบ คิดเป็นประมาณ 80% ของจำนวนเงินฝากรวม นับตั้งแต่ วันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ปรับลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ครอบคลุมสถาบันการเงินรวม 35 แห่ง 


โดยประเภทเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และ ใบรับฝากเงิน ซึ่งต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น 


ทั้งนี้พบว่าวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท ยังคุ้มครองกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ ได้กว่า 98% ของผู้ฝากเงินทั้ง หมดของระบบสถาบันการเงิน 


ขณะที่กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 2% ของผู้ฝากเงินทั้งหมดของระบบสถาบันการเงิน แต่จำนวนเงินที่ถูกกระทบกลับคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 80% ของจำนวนเงินฝากรวม (รวมทั้งผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล, ข้อมูล ณ สิ้น มิ.ย.2021) 


ดังนั้น ผู้ฝากเงินที่มีจำนวนเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป จึงอาจมีความกังวลมากขึ้น เมื่อเงินฝากส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากปิดกิจการ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต และผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมหลังจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการแล้ว 


สถานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่ยังคงมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ทั้งในส่วนของระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ณ สิ้นปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 20% สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และ อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 152.2% 


นอกจากนี้สภาพคล่องยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity cove rage ratio) หรือ LCR ของธนาคารทั้งหมด ณ สิ้นมิถุนายน 2021 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 186.7% และเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 100% ทำให้ผู้ฝากเงินอาจไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากนัก


ตลาดการเงินมีทางเลือกหลากหลาย โดยผู้ฝากเงินควรเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยงและระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน สำหรับทางเลือกของผู้มีเงินฝาก SCB CIO มองว่าตลาดการเงินมีทางเลือกหลากหลายที่จะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงและช่วยให้ผู้ฝากเงินสามารถวางแผนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนบางส่วนให้กับเม็ดเงินฝากได้ ผลิตภัณฑ์เงินฝากเดิมทั้ง เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก รวมถึงใบรับฝากเงิน


แม้จำนวนเงินสูงสุดที่ได้รับความคุ้มครองจะลดลง แต่ผลิตภัณฑ์เงินฝากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงของความผันผวนของราคาสินทรัพย์ได้ แลกกับผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ โดยการกระจายเงินฝากไปยังสถาบันการเงินหลายแห่งที่อยู่ในความคุ้มครอง และไม่กระจุกฝากเงินไว้เพียงสถาบันการเงินเดียว เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด


นอกจากตลาดเงินฝากที่ผู้ฝากเงินใช้ผลิตภัณฑ์เงินฝากเดิมอยู่แล้ว สำหรับผู้ฝากเงินที่สามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนในผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกที่มีความน่าสนใจ


ผู้ฝากเงินอาจเริ่มพิจารณาทางเลือกในการออมเงินเพิ่มเติม โดยพิจารณาแบ่งเงินลงทุนบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศ และหากผู้ฝากเงินเข้าใจความเสี่ยงรายบริษัทเป็นอย่างดี อาจพิจารณาเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้บริษัทมหาชนชั้นนำ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนได้ 


จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ยังบ่งชี้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีเสถียรภาพแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงไตรมาส 2 แต่มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยยังขยายตัวที่ 2% ในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2020 จากการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 


ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และจากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) บ่งชี้ว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวม และมีสัดส่วนในตลาดกองทุนรวมสูงที่สุด สะท้อนการเติบโตทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานของกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นและระยาว 


นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท Structured Product หรือ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่มีการจำกัดความเสี่ยงขาลงไว้ เช่น Principal-Protected Product สามารถเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนพร้อมมีการกำหนดรูปแบบการคุ้มครองเงินต้นได้ อีกทั้ง ผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุน ยังสามารถเลือกกระจายเงินลงทุนไปยังตราสารหนี้ต่างประเทศ ตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศได้ 


ซึ่งทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติมเหล่านี้ SCB CIO มองว่า เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ (รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีตราสารหนี้และตราสารทุนต่างประเทศ)  


ขณะเดียวกันการแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ นอกจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนนั้นเป็นทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ทั่วไปในภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะกับผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) 


อย่างไรก็ดี ทางเลือกในการลงทุนตราสารทางการเงินเหล่านี้ แม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผลิต ภัณฑ์เงินฝากทั่วไป ดังนั้น ผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะและความเสี่ยงของตราสารทางการเงินนั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ

ข่าวแนะนำ