TNN online ทรีนีตี้เฟ้น 15 หุ้นขนาดใหญ่น่าเก็บ ชูธีม Domestic play รับอานิสงส์เปิดเมือง

TNN ONLINE

Wealth

ทรีนีตี้เฟ้น 15 หุ้นขนาดใหญ่น่าเก็บ ชูธีม Domestic play รับอานิสงส์เปิดเมือง

 ทรีนีตี้เฟ้น 15 หุ้นขนาดใหญ่น่าเก็บ  ชูธีม Domestic play  รับอานิสงส์เปิดเมือง

ทรีนีตี้มองหุ้นไทยเดือนก.ย.ยังสดใสจากเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ผนวกรัฐคลายล็อกดาวน์การฉีดวัคซีนเร่งตัวขึ้น คาดกรอบดัชนีเคลื่อนไหว 1,590-1,660 จุด ชูหุ้นกลุ่ม Domestic play ขนาดใหญ่ 15 บริษัท รับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้น

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน ก.ย.ว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า (Fund flow) ที่มีสัญญาณดีต่อเนื่อง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในประเทศที่กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการคลาย Lockdown ต่าง ๆ และอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น โดยมองกรอบดัชนีเดือน ก.ย.ทั้งเดือนที่ระดับ 1,590-1,660 จุด  


“นักลงทุนที่มีเงินสดระดับหนึ่งแล้วให้ถือครองหุ้นในพอร์ตต่อไปได้และรอขายที่ระดับดัชนี 1,660 จุด มองว่าหากดัชนีปรับขึ้นไปถึงกรอบบน คาดว่าจะเห็นแรงเทขายออกมาอย่างสำคัญได้ เนื่องจากเป็นระดับที่จะทำให้ค่า Earning yield gap ของตลาดหุ้นไทยกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวอีกครั้ง บ่งชี้ถึง Valuation ของตลาดหุ้นที่ตึงตัวและเปราะบางต่อการปรับฐานในระยะสั้น” 


สำหรับธีมการลงทุนหลักในเดือนนี้ มองว่าหุ้นขนาดใหญ่ยังคงได้เปรียบกว่าหุ้นขนาดเล็ก ทั้งในแง่ของ Liquidity, Valuation, Sentiment และความ Laggard โดยได้คัดเลือกหุ้นขนาดใหญ่มาทั้งสิ้น 15 บริษัทที่มี Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง และราคายังคงต่ำกว่าราคาปิดวันที่ 11 มิ.ย.ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของดัชนีในรอบก่อนหน้านี้ 


ทั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น Sector ต่างๆ ดังต่อไปนี้  1.กลุ่มพลังงานกลางน้ำและปลายน้ำ เลือกหุ้น ESSO, PTG, SPRC 2.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เลือกหุ้น BBL, KBANK, TTB 


3.กลุ่มไฟแนนซ์เลือกหุ้น BAM, SAWAD, TIDLOR 4.กลุ่มค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า เลือกหุ้น CPN, CRC   5.กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ เลือกหุ้น MAJOR, PLANB และ 6.กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง เลือกหุ้น  STEC, TOA


ขณะที่หุ้นที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในเดือนนี้ คือกลุ่มที่อิงกับภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากสัญญาณเตือนต่างๆ ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่อ่อนแรงลงต่อเนื่องโดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหา Supply disruption เช่นการขาดแคลนชิป รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องจนอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในช่วงถัดไป 


นอกจากนี้การลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะปรับตัว Outperform มาตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ Covid-19 ปีก่อน และเริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนแรงของสภาพคล่องภายในประเทศ ผ่านตัวแปรปริมาณเงินหรือ M2 ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไปในตลาดได้ โดยที่นักลงทุนกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ที่คอยช่วยประคับประคองการปรับตัวของหุ้นขนาดกลาง-เล็ก มาก่อนหน้านี้



ส่วนการลงทุนในเดือน ก.ย. ต้องติดตามใน 4 ประเด็นหลักๆ ด้วยกันคือ  1. การประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่ม  OPEC+ ในวันที่ 1 ก.ย .หลังจากที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวได้ในระดับสูง น่าจะทำให้ทางกลุ่มสบายใจที่จะดำเนินตามมติที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้ นั่นก็คือการเพิ่มกำลังผลิตเข้าสู่ตลาดวันละ 4 แสนบาร์เรล แต่ถ้าหากผลการประชุมเห็นควรให้ชะลอมาตรการดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นได้  


2. รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของประเทศสำคัญ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้นำต่อมายังภาคการส่งออกในช่วงถัดไป โดยหลังจากที่จีนรายงานตัวเลขออกมาอ่อนแอก่อนหน้านี้แล้ว แนะนำติดตามตัวเลขของยุโรปและสหรัฐฯที่จะออกมาในช่วงต้นเดือนด้วยเช่นกัน  


3. รายงานตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังคาดการณ์ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอนาคต รวมถึง Bond yield ในตลาดหรือไม่  


4. ความเป็นไปได้ที่เฟดประกาศลดวงเงิน QE (Tapering) ในการประชุมวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ แต่ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้วไม่ว่าเฟดจะเริ่มต้นโครงการเดือนไหน มองว่าคงจะไม่ใช่ประเด็นที่มีน้ำหนักต่อการลงทุนแล้ว


ข่าวแนะนำ