TNN online NBSPACE สตาร์ทอัพอุตฯอวกาศไทย เล็งส่งฝูงดาวเทียม 20 ดวง ภายใน 5 ปี

TNN ONLINE

Wealth

NBSPACE สตาร์ทอัพอุตฯอวกาศไทย เล็งส่งฝูงดาวเทียม 20 ดวง ภายใน 5 ปี

NBSPACE สตาร์ทอัพอุตฯอวกาศไทย  เล็งส่งฝูงดาวเทียม 20 ดวง ภายใน 5 ปี

NBSPACE สตาร์ทอัพคนไทย เตรียมส่งฝูงดาวเทียม 20 ดวง ภายใน 5 ปี คาดปี 2583 ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

เทคโนโลยีอวกาศ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องห่างไกล และคนไทยยากจะเข้าถึง แต่ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีอวกาศก็เข้าใกล้ไทยมากขึ้น เมื่อมีสตาร์ทอัพคนไทยหลายรายเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ และได้รับการสนับสนุนจากบริษัททขนาดใหญ่หลายราย โดยเริ่มมีผลงานออกมาบ้างแล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 


ในขณะที่ภาครัฐก็ให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ทั้งการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างธุรกิจอวกาศให้เกิดในประเทศไทย และกำลังจะออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นการเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ 


รวมทั้งยังได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ห้องทดสอบดาวเทียม ห้องทดสอบวัสดุในสภาพสุญญากาศ และศูนย์วิจัยต่าง ๆ การส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ เพื่อสร้างอีโคซิสเท็มด้านอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยในด้านนี้ยกระดับไปสู่การสร้างธุรกิจอวกาศขึ้นมาได้


โดยหนึ่งในสตาร์ทอัพด้านอวกาศที่โดดเด่นในขณะนี้ คือ บริษัท เอ็นบีสเปซ จำกัด (NBSPACE) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอรูปแบบเทคโน โลยี นวัตกรรม และแผนธุรกิจ ในโครงการ “The Best Startup in Space Economy: Lifting Off 2021” 


นายอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็นบีสเปซ เปิดเผย TNN Wealth ว่า ได้เริ่มทำงานด้านอวกาศมาตั้งแต่เรียนที่มหาวิทยาลัยเทค โนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ จากนั้นก็ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นในระดับปริญญาโท และเอก ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการสร้างดาวเทียม และได้ร่วมโครงการผลิตดาวเทียมไปแล้วหลายดวง


“ผมและผู้ก่อตั้งบริษัทฯทั้ง 3 คน ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและผลิตดาวเทียมไปโคจรรอบโลกแล้ว 9 ดวง จึงมีความมั่นใจในศักยภาพ และเอ็นบี  สเปซ จะเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของไทยที่ออกแบบและผลิตดาวเทียมได้ด้วยตัวเอง”  


ซึ่งหลังจากร่วมงานกับบริษัทต่างชาติด้านดาวเทียมแล้วก็เห็นว่าประเทศไทยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและมีธุรกิจปลายน้ำจากข้อมูลดาวเทียมเป็นจำนวนมาก แต่ขาดธุรกิจต้นน้ำที่ออกแบบและผลิตดาวเทียมภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ของไทย


ทั้งนี้ในธุรกิจดาวเทียมส่วนที่สร้างรายได้สูงสุด คือ การออกแบบและการผลิต หากไทยทำเองได้ก็จะประหยัดงบประมาณและสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมอวกาศมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ และในปี 2583 จะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไทยจึงควรเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดนี้ และดาวเทียมก็ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการยกระดับไทยไปสู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นสูง


โดยที่ผ่านมาประเทศไทยต้องซื้อข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศจากต่างประเทศสูงถึง 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งจะต้องเสียไปทุกปี และบางปีที่ประสบอุทกภัย หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ก็ยิ่งใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้นกว่าปกติมากต้องเสียเงินให้กับต่างชาติเกือบแสนล้านบาท หากไทยสร้างดาวเทียมของตัวเองได้ก็จะลดการสูญเสียตรงนี้ไปได้มาก และยังขายให้กับต่างชาติได้อีกด้วย


สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ เอ็นบีสเปซ ในช่วงแรกจะเน้นการออกแบบและผลิตดาวเทียมขนาดเล็ก รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อใช้ในด้านการสื่อสารกับอุปกรณ์ IoT ซึ่งในปัจจุบันนี้และในอนาคตจะมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์และ IoT ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งระบบโลจิสติกส์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน ในพื้นที่เกษตรกรรมสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และอื่น ๆ 


ซึ่งดาวเทียมจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ IoT และจัดส่งข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ ได้รวดเร็ว โดยได้ร่วมมือกับพาทเนอร์ชั้นนำ เช่น AIS และมหาวิทยาลัยชั้นในหลายประเทศ 


นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะติดตั้งกล้องอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดต่าง ๆ ไปกับดาวเทียม เพื่อถ่ายภาพและรวบรวมข้อมูลจากอวกาศ ในการนำไปใช้ในภารกิจและธุรกิจที่หลากหลาย เช่น การทำแผนที่ การสำรวจทรัพยากร การวิเคราะห์พื้นที่การเกษตร การระบาดของโรคพืช การป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีค่ามากในการพัฒนาธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศในทุกด้าน รวมทั้งช่วยลดการซื้อและพึ่งพาข้อมูลจากต่างชาติ


โดย โครงการในขั้นแรกจะส่งดาวเทียมดวงแรกของบริษัทฯ ไปกับจรวดส่งเสบียงของสถานีอวกาศนานาชาติเข้าสู่วงโคจรในช่วงกลางปี 2565 เพื่อทดสอบระบบ จากนั้นจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเหนือพื้นโลก 400 กิโลเมตร อีก 15 - 20 ดวง ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างข้อมูลต้นน้ำของตัวเอง และร่วมมือกับพาทเนอร์นำข้อมูลไปใช้กับธุรกิจปลายน้ำ คาดว่าโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท


“ดาวเทียมแต่ละดวงจะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละ 10 กว่านาที จึงต้องใช้ดาวเทียม 15 -20 ดวง เพื่อให้ครอบคลุม 24 ชั่วโมงของไทย และได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ” 


สำหรับวัสดุในการก่อสร้าง กว่า 60% จะใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านการผลิตสูง เป็นประเทศชั้นนำในการผลิตรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ส่วนที่ต้องนำเข้าจะเป็นอุปกรณ์ที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น แผงโซล่าเซลล์เกรดอวกาศ ชิปชนิดพิเศษ เป็นต้น 


“การที่จะผลิตรถยนต์ได้จะต้องมีมาตรฐานสูงมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของมนุษย์ การที่ไทยเก่งในด้านนี้ก็แสดงให้เห็นว่าชิ้นส่วนที่ไทยผลิตมีคุณภาพสูง ซึ่งดาวเทียมก็ไม่ต่างกัน แต่จะต้องใช้วัสดุพิเศษที่เหมาะกับการใช้งานในอวกาศ ที่มีสภาพแวดล้อมสุดขั้ว ซึ่งหากไทยมีอุตสาหกรรมอวกาศมากขึ้น การผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น”


ทั้งนี้มั่นใจว่าเอ็นบีสเปซ จะสู้กับบริษัทดาวเทียมของต่างชาติได้ เนื่องจากเราออกแบบและผลิตดาวเทียมเอง ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งเมื่อประเทศไทยพัฒนามากขึ้น ก็จะยิ่งต้องการข้อมูลจากดาวเทียมมากขึ้น และในอาเซียนรวมทั้งพื้นที่รอบเส้นศูนย์สูตรที่ดาวเทียมผ่าน ก็มีความต้องการด้านข้อมูลอีกมาก


ส่วนในอนาคตหากมีความต้องการใช้ดาวเทียมมากขึ้น และใช้ในภารกิจพิเศษอื่น ๆ ก็สามารถผลิตได้ เพราะดาวเทียมขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ใช้พื้นฐานการสร้างเดียวกัน บริษัทฯสร้างได้ตามความต้องการของลูกค้า


อย่างไรก็ตาม การที่อุตสาหกรรมอวกาศของไทยจะพัฒนาไปได้เร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับการอุดหนุนจากภาครัฐ และการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อกับธุรกิจของคนไทย โดยควรจะกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องซื้อสินค้าจากคนไทยก่อน เพื่อให้เกิดดีมานภายในประเทศเข้ามาพยุงอุตสาหกรรมอวกาศของไทย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านอวกาศของต่างชาติให้เข้ามาร่วมมือกับเอกชนไทย ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมอวกาศของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว




 

ข่าวแนะนำ