TNN online สศช.เร่งรัฐยกเครื่องแรงงาน หวั่นไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุฉุดเศรษฐกิจระยะยาว

TNN ONLINE

Wealth

สศช.เร่งรัฐยกเครื่องแรงงาน หวั่นไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุฉุดเศรษฐกิจระยะยาว

 สศช.เร่งรัฐยกเครื่องแรงงาน หวั่นไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุฉุดเศรษฐกิจระยะยาว

สศช.เร่งรัฐยกเครื่องแรงงาน หลัง คะแนนความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านทักษะของไทยและอัตราการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานลดฮวบฮาบ ขณะที่ประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเพิ่มขึ้นหวั่นกระทบการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในระยะยายาว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต หลังพบว่าคะแนนความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านทักษะของไทยและอัตราการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในปี 63 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตและการพัฒนาทักษะแรงงาน ตั้งแต่ปี 60-64 เป็นลักษณะโครงการอบรม สัมมนา และพัฒนาทักษะ ยังไม่ได้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงทักษะในการทำงานจริงกับการจัดการเรียนการสอนหากไม่เร่งทำอาจทำให้การพัฒนาคนหลุดจากเป้าหมายได้


สำหรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตนั้น มีเป้าหมายให้คนไทยทุกช่วงวัยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น และได้รับการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะ เช่นเดียวกับรักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 


โดยเน้นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพคนไทยตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ ปฐมวัย วัยรุ่น วัยเรียน วัยแรงงาน และวัยผู้สูงอายุ เพื่อให้คนไทยเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีทักษะความรู้เป็นคนดีมีวินัย เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีความรอบรู้ทางการเงิน มีความสามารถในการวางแผนชีวิตและการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม


ทั้งนี้การบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน มีความเสี่ยงเพราะโครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยได้เปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ในช่วงปี 64 ทำให้ประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 


ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมของประชากรไทย ยังต่ำกว่าระดับ อีกทั้งกลุ่มวัยต่าง ๆ ยังคงมีปัญหาและความท้าทายในแต่ละกลุ่ม ทั้ง โภชนาการในกลุ่มเด็กปฐมวัย ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ของกลุ่มวัยรุ่น ผลิตภาพแรงงานต่ำในกลุ่มวัยแรงงาน และปัญหาสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ


อย่างไรก็ตาม สศช. มีข้อเสนอว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น เช่น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ถ่ายทอดความรู้ การยกระดับการอบรมและพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ข่าวแนะนำ