TNN online เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน รับมือโควิด-19 ยืดเยื้อ

TNN ONLINE

Wealth

เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน รับมือโควิด-19 ยืดเยื้อ

เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน รับมือโควิด-19 ยืดเยื้อ

เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมรองรับโควิด-19 ยืดเยื้อ ธปท. แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ดันเศรษฐกิจไทย 5 ปีข้างหน้า เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2

วันนี้ (21 ส.ค.64)  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)วานนี้( 20 ส.ค.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อให้มาตรการทางการเงินช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้มากขึ้น ในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานลดลง ซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของภาคธุรกิจและครัวเรือน

โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ประกอบด้วย 

มาตรการที่ 1.การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอี ด้วยการขยายวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน เพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้มากขึ้น  ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าภาคธุรกิจยังมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านบาทก่อนเดือน ต.ค.นี้ 

เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน รับมือโควิด-19 ยืดเยื้อ

นอกจากนั้น ยังผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ เพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระเป็นการชั่วคราว ได้แก่ 1.) ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท  2.) คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่เคยผ่อนคลายไว้ก่อนหน้านี้ ในอัตราร้อยละ 5 จนถึงสิ้นปี 2565 และ 3.) ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล จากเดิมไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย เป็นไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย พร้อมยืดระยะเวลาชำระหนี้เป็น 12 เดือน

เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน รับมือโควิด-19 ยืดเยื้อ

สำหรับมาตรการที่ 2 : การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง เน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ด้วยการผ่อนปรนให้สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ออกไปถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้ต้นทุนของสถาบันการเงินลดลง และสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน รับมือโควิด-19 ยืดเยื้อ


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ โดยอาจจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท โดยประเมินว่าหากรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม และเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีนี้ จะช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย เฉลี่ย 5 ปีข้างหน้า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.2% แต่หากรัฐบาลไม่มีการกู้เงินเพิ่ม และไม่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ จะเติบโตได้ไม่ถึงร้อยละ 3 


ข่าวแนะนำ