TNN online ธนาคารกรุงเทพ-กรุงศรี รุกบริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย ขยายธุรกรรมระหว่างประเทศ

TNN ONLINE

Wealth

ธนาคารกรุงเทพ-กรุงศรี รุกบริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย ขยายธุรกรรมระหว่างประเทศ

ธนาคารกรุงเทพ-กรุงศรี รุกบริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย ขยายธุรกรรมระหว่างประเทศ

ธนาคารกรุงเทพ เปิดให้บริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย ประเดิมบริการเป็นรายแรก เมื่อไตรมาส 1 ด้านธนาคารกรุงศรีพร้อมให้บริการ มุ่งขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

วันนี้( 18 ส.ค.64) นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และทำหน้าที่เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในการให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย ภายใต้ความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคด้วยการส่งเสริมที่ดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศไทย ขณะเดียวกันนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศ

ภายใต้การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินดังกล่าว ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สแกนเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงลูกค้าของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียที่เข้าร่วมบริการ เช่น Permata Bank เป็นต้น สามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัยเช่นกัน ทั้งยังลดความยุ่งยากในการแปลงสกุลเงิน เนื่องจากลูกค้าจะชำระเป็นเป็นสกุลเงินของประเทศตัวเองและร้านค้ารับเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ลูกค้าผู้ชำระเงินจะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต  

ในประเทศไทยมีปริมาณธุรกรรมผ่าน Thai QR Payment ในปี 2563 มากถึง 13.39 ล้านรายการซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2562 ถึง 49.14% ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน อาจยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น บริการ Cross-Border QR Payment เชื่อว่าจะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม เช่น ชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในอินโดนีเซีย รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าการเดินทางและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญหรือเมืองเศรษฐกิจ และเชื่อมั่นว่าบริการ Cross-Border QR Payment จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรม New Normal ที่ลดการสัมผัสสิ่งของต่างๆ และหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น


ด้านนางยิ่งลักษณ์ คงคาสัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกรรมการเงิน กลุ่มงานธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า นวัตกรรมบริการcross-border QR payment สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกรุงศรีในการมุ่งขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางของธนาคาร โดยกรุงศรีใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญที่มีในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้าในยุคปัจจุบัน ให้ลูกค้าคนไทยสามารถใช้กรุงศรี โมบาย แอปพลิเคชัน (KMA)สแกนคิวอาร์ของร้านค้าเพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการในอินโดนีเซียได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งลูกค้าจะเห็นยอดการชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท รู้อัตราแลกเปลี่ยนทันทีด้วยอัตราพิเศษกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิต ขณะเดียวกันลูกค้าของธนาคารในอินโดนีเซียก็สามารถใช้โมบายแอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการในการสแกนจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน ทำให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น”

"นอกจากนวัตกรรมบริการcross-border QR payment ระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยแล้ว กรุงศรีกำลังเร่งพัฒนาความร่วมมือในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศผ่านธนาคารพันธมิตรภายใต้เครือข่ายของMUFGเพื่อยกระดับมาตรฐานการทำธุรกรรมการค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซียให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งคาดว่าสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่4/2564นี้


ข่าวแนะนำ