TNN online เฟดส่งสัญญาณลดคิวอีฉุดบาทอ่อนแตะ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ

TNN ONLINE

Wealth

เฟดส่งสัญญาณลดคิวอีฉุดบาทอ่อนแตะ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เฟดส่งสัญญาณลดคิวอีฉุดบาทอ่อนแตะ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงทำสถิติสูงสุดรอบใหม่อีกครั้ง หลังเฟดส่งสัญญาณลดคิวอี -ผู้นำเข้าเร่งปิดความเสี่ยง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ  33.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทำสถิติสูงสุดใหม่ในช่วง 3 ปี 2 เดือน โดยแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 


ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากแรงซื้อดอลลาร์ของฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งปิดความเสี่ยงเนื่องจากกังวลว่า เงินบาทอาจจะอ่อนค่าเร็วและแรง 


เรามองว่า ในระยะสั้น อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ไม่ยาก หากสถานการณ์การระบาดยังคงเลวร้ายต่อเนื่อง และ เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นอยู่ ซึ่งอาจจะหนุนด้วยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ในขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะ ยุโรป อาจชะลอตัวลง จากปัญหาการระบาดของ COVID-19


นอกจากนี้ เรายังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ ทำให้ ค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งก็อาจจะต้องรอในช่วงต้นเดือนกันยายน


อนึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด COVID-19 อาจทำให้ทิศทางของเงินบาทยังคงผันผวนอยู่ในระยะสั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ใช้ Options เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


สำหรับผู้เล่นในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ที่เริ่มกดดันความคาดหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยได้สะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้ดิ่งลงกว่า 2.5% สู่ระดับ 69.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


นอกจากนี้ตลาดการเงินยังถูกกดดันโดยความกังวลว่าเฟดอาจลดการทำคิวอีได้เร็วกว่าคาด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างทยอยออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการลดคิวอีภายในปีนี้ 


อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ต่างออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยพยุงตลาดหุ้นไม่ให้ปรับตัวลดลงหนัก โดย ดัชนี Dowjones ปิดลบ -0.30% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลงราว -0.09% โดยทั้งสองดัชนีต่างเผชิญแรงกดดันของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงหนัก


ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินได้ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงตลาดไว้ ทั้งนี้ หุ้นเทคฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สห รัฐฯ ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.30% อีกทั้งผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯก็ยังคงสดใส หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.16%


ส่วนยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.06% โดยความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ก็เริ่มกลับมากดดันหุ้นในกลุ่ม Cyclical มากขึ้น อาทิ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง อย่าง Safran -2.22%, Airbus -1.83% ขณะเดียวกัน หุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังช่วยพยุงตลาดไว้ได้บ้าง หลังรายงานผลปะกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ ออกมาดีต่อเนื่อง Infineon +0.89%, ASML +0.75% 


ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบอนด์เริ่มทยอยขายทำกำไรการถือบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดคิวอีได้ในปีนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นตามคาด ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 4bps สู่ระดับ 1.32% ซึ่งก็ยังคงเป็นระดับที่ต่ำนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา


ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าเฟดที่ออกมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวด อย่าง การทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93 จุด อีกครั้ง กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.174 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 110.3 จุด 


สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป โดยตลาดประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจส่งผลให้ บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์มีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดรอบล่าสุดในยุโรปและทั่วโลก ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Sentiment) เดือนสิงหาคม อาจลดลงสู่ระดับ 55 จุด จาก 63.3 จุด ในเดือนก่อน


ส่วนไทยตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง แต่สถานการณ์การระบาดอาจเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ หลังยอดการแจกจ่ายวัคซีนสามารถเร่งตัวขึ้นมาก ซึ่งหากรัฐบาลสามารถเร่งการแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงได้ดีขึ้นต่อเนื่อง จนใกล้ระดับ 5 แสนโดสต่อวัน ก็อาจทำให้สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลงได้

เฟดส่งสัญญาณลดคิวอีฉุดบาทอ่อนแตะ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ



ข่าวแนะนำ