TNN online โควิดทุบค้าปลีกอ่วม! ธุรกิจส่อแววเจ๊งเลิกจ้างพนักงาน

TNN ONLINE

Wealth

โควิดทุบค้าปลีกอ่วม! ธุรกิจส่อแววเจ๊งเลิกจ้างพนักงาน

โควิดทุบค้าปลีกอ่วม! ธุรกิจส่อแววเจ๊งเลิกจ้างพนักงาน

โดวิดพ่นพิษค้าปลีกอ่วม ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.ค.ต่ำสุดรอบ 16 เดือน ชี้ล็อกดาวน์คุมเข้มพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัดกระทบร้านค้าแสนรายมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้าน จ่อปิดกิจการกระทบจ้างงานล้านคน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย  เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนส.ค.ปัจจุบันได้ขยายจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี  66 


ทั้งนี้เห็นได้จาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน คิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบ 70% และการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือนก.ค.ปีนี้ Same Store Sale Growth (SSSG) เกิดจากทั้ง Spending Per Bill หรือ Per Basket Size และ ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ลดลงพร้อมกันทั้งคู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา


อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท กว่า 100,000 ร้านค้า เตรียมปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่าล้านคน 


ทั้งนี้คาดว่าภาคการค้าปลีกและบริการครึ่งปีหลัง 2564 จะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวม ปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยืนอยู่ ที่ระดับ 27.6 ต่ำกว่าดัชนีเดือนเม.ย.63 ที่ระดับ 32.1 สะท้อนถึงความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจน ต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตร การการเยียว ยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้


นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ปรากฏว่า ลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างต่อเนื่องใน ทุกภูมิภาค เป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะภาคกลาง ที่ลดลงอย่างชัดเจนกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากภาคกลางมีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานเป็นจำนวนมาก 


ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือน ข้างหน้า ก็ลดลงในทุกภูมิภาคอย่างชัดเจน แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาด โควิด-19 ครั้งนี้ ผู้ประกอบการประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ การฟืนตัวต้องใช้เวลานาน


ส่วนดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก จากผลการสำรวจพบว่าดัชนีปรับลดลงมากอย่างชัดเจน และต่ำลงในทุกประเภท โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกประเภทร้านอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงและหนักสุดจากมาตรการการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ยอดขายลดลงกว่า 80-90% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.


ขณะที่ร้านค้าประเภทสะดวกซื้อ ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กำหนดให้ปิดบริการตั้งแต่ 21.00-04.00 น มีผลต่อยอดขายหดหาย กว่า 20-25% จากที่รายได้ในรอบดึก ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Peak Hour หายไป และจำนวนสาขาของร้านค้าสะดวกซื้อกว่า 40% ตั้งอยู่ในเขตสีแดงเข้มที่เป็นเขตควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด


อย่างไรก็ตาม สมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐใน 4 ประเด็น  เช่น 1. เยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 0% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
 

2.ภาครัฐช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน 3.ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน (ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย) หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน


4.ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน  โดยขอให้พิจารณาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะภาค ค้าปลีกและบริการกำลังทรุดหนัก และมีแนวโน้มที่อาจจะต้องปิดกิจการอีกจำนวนมาก 


 

ข่าวแนะนำ