TNN online โควิด-19 ตัวเร่งผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ ดัน อีคอมเมิร์ซโตพุ่ง

TNN ONLINE

Wealth

โควิด-19 ตัวเร่งผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ ดัน อีคอมเมิร์ซโตพุ่ง

โควิด-19 ตัวเร่งผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ ดัน อีคอมเมิร์ซโตพุ่ง

“โควิด-19”ดันตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตแบบติดสปีด ปี63 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19 ของยอดค้าปลีกทั้งหมด เพราะผู้คนออกไปใช้จ่ายที่หน้าร้านไม่ได้ บีบให้ผู้บริโภคต้องปรับพฤติกรรมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด เผยแพร่รายงานอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกปี 2562 และประเมินผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในปี 2563 โดยระบุว่า การเติบโตอย่างมากของตลาดอี-คอมเมิร์ซได้แรงหนุนจากมาตรการจำกัดพื้นที่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดค้าปลีกออนไลน์ในปี 2563 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19 ของยอดค้าปลีกทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 16 มากกว่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2

การกักตัวเพื่อสกัดโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าที่จับต้องได้ผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยยอดค้าปลีกออนไลน์ในตลาดหลัก 7 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐ อังกฤษ เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ปี 2563 อยู่ที่เกือบ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.04 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22   ในขณะที่ยอดค้าปลีกรวมของ 7 ประเทศในปี 2563 อยู่ที่ 13 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 13.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 ลดลงเกือบร้อยละ 1 โดยในบรรดา 7 ตลาดหลัก เกาหลีใต้มีส่วนแบ่งยอดค้าปลีกออนไลน์เทียบกับยอดค้าปลีกทั้งหมดในปีที่แล้วมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 25.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.8 ในปีก่อนหน้า ตามด้วยจีนที่มีสัดส่วนร้อยละ 24.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.7 

สะท้อนให้เห็นว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิง ต่อธุรกิจของบริษัทอี-คอมเมิร์ซแบบที่ส่งมอบสินค้าจากผู้ประกอบการถึงมือผู้บริโภคโดยตรง (B2C)   ซึ่งบริษัทอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ 13 แห่งของโลก  ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ และจีน มียอดขายรวมทั้งหมด (gross merchandize volume-GMV) ในปี 2563 อยู่ที่ 2.89 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 จาก 2.40 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 มากกว่าในปี 2562 ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9

โดย “อังค์ถัด” ประเมินว่า ในปี 2562 มีผู้คนทั่วโลกราว 1.48 พันล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากเมื่อปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อสินค้าภายในประเทศ ส่วนการซื้อสินค้าข้ามพรมแดนมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของการซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมด

ด้านบริษัทวิจัยตลาด “อีมาร์เก็ตเตอร์” ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 มีส่วนเร่งพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ในหลายประเทศ และมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในปีนี้ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เป็นตลาดใหญ่สุดในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ น่าจะมียอดขายรวมทั้งหมดเกือบ 2.99 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีนี้ มากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับตลาดอเมริกาเหนือที่ประเมินว่ายอดขายอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ และมากกว่าเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบกับยุโรปตะวันตก

ทั้งนี้จีนยังคงเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซอันดับ 1 ของโลก ทั้งในแง่จำนวนผู้ซื้อและอำนาจซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่จะส่งผลอย่างมากต่อตลาดอี-คอมเมิร์ซโลก โดยคาดว่าจีนจะมียอดขายอี-คอมเมิร์ซแบบค้าปลีกในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.1 ของทั้งโลก มากกว่าสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ร้อยละ 19 

ขณะที่ อีมาร์เก็ตเตอร์ ประเมินว่า ยอดขายอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกในปีนี้ น่าจะแตะ 4.89 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยจีนยังคงขึ้นแท่นอันดับ 1 ตลาดอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่สุด ด้วยมูลค่ายอดขายในปีนี้ที่ 2.78 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบปีที่แล้ว และมากกว่าอีก 9 ประเทศที่เหลือในตารางรวมกัน 

ทั้งหมดนี้สะท้อนแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่โตสวนทางธุรกิจอื่นๆ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และน่าจะยังมีโอกาสมหาศาลจากการที่พฤติกรรมจับจ่ายของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้การระบาดของไวรัสจะคลี่คลายลงในอนาคต

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง