TNN online เอกชนวอนรัฐอัดยาแรงจ่ายตรงเยียวยาธุรกิจฝ่าโควิด

TNN ONLINE

Wealth

เอกชนวอนรัฐอัดยาแรงจ่ายตรงเยียวยาธุรกิจฝ่าโควิด

เอกชนวอนรัฐอัดยาแรงจ่ายตรงเยียวยาธุรกิจฝ่าโควิด

ผงะโรงงานผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งเฉลี่ย 15-20% เอกชนแนะรัฐเตรียมมาตรการฉุกเฉินจ่ายชดเชยเยียวยาธุรกิจโดยตรงเหมือนสหรัฐฯ หวังประคองธุรกิจช่วงวิกฤติ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงงานในหลายอุตสาหกรรมมีผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมากทำให้ต้องหยุดการผลิตว่า  บริษัทที่มีผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกในอันดับต้น ๆ ของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อหยุดการผลิตก็จะกระทบซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ดังนั้นการให้โควิดคลี่คลายนั้นรัฐต้อง เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนเป็นเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพต้านทานเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ได้ และเร่งระดมฉีดให้ได้มากที่สุด 


นอกจากนี้ควรปลดล็อกชุดตรวจโควิดเชิงรุก (Rapid Antigen Test Kit) ให้โรงงานต่างๆ สามารถนำไปตรวจคัดกรองคนงานได้ด้วยตัวเอง โดยพนักงานได้รับการฝึกอบรมในการใช้ชุดตรวจ เพื่อลดภาระต้นทุน และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ 


สำหรับผลตรวจโควิดที่แต่ละโรงงานได้มีการตรวจคัดกรองพนักงานเชิงรุกล่าสุดพบในแต่ละโรงงานมีผู้ติดเชื้อโควิดเฉลี่ยที่ 15-20% ของจำนวนพนักง านบางโรงสูงถึง 20-30% ซึ่งเป็นเรื่องที่ห่วงมากเนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ (เดลต้า) ติดเชื้อได้ง่ายและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วดังนั้นหากมาตรการยาแรงด้านสาธารณาสุขยังควบคุมไม่ได้ผลและเกินจะรับมือไหวอาจต้องมีการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้เห็นว่ารัฐต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉินและกลไกพิเศษในการจ่ายเงินชดเชยหรือเยียวยาภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ  เช่น สหรัฐฯที่มีการจ่ายเงินชดเชยเข้าบัญชีของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในอัตราเดียวกับรายได้พึงประเมินก่อนเกิดโควิด เพื่อให้สามารถประคองและฟื้นธุรกิจในช่วงโควิด

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลกระทบโควิดที่ลามสู่โรงงานผลิตส่งออก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ใช้มาตร การ Bubble & Seal คัดแยกคนที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน


 ซึ่งตามข้อกำหนดหากมีพนักงานติดเชื้อเกิน 10% ต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน ซึ่งเวลานี้หลายโรงได้เริ่มแล้ว แต่ในรายที่ไม่มีพื้นที่มากพอเวลานี้มีทางเลือกใหม่คือไปใช้สถานที่วัดที่อยู่รอบ ๆ โรงงานในการตั้งโรงพยาบาลสนามในลักษณะเช่าพื้นที่ โดยเอกชนออกค่าใช้จ่าย หรือหากวัดใดมีมูลนิธิ หรือมีกองทุนที่อยากช่วยก็แล้วแต่จะหารือกัน


ส่วนการแก้ปัญหาโควิดโดยการล็อกดาวน์หรือประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศคงทำได้ยาก เพราะจะกระทบเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนในวงกว้าง ซึ่งธุรกิจล้มแล้วลุกยาก คงต้องล็อกดาวน์เป็นจุด ๆ และเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ตามสถานการณ์ความรุนแรง แต่หากจะทำมาตรการรัฐต้องครบทุกด้าน 


ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนในคลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อมาก ๆ การใช้ชุดตรวจสอบเชิงรุก  และพิจารณาว่ากิจการไหนต้องหยุดบ้าง ธุรกิจไหนยังหยุดไม่ได้ เช่น ร้านอาหาร  และร้านขายยา อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารส่งออกท่ามกลางสถานการณ์โควิดปีนี้ยังมั่นใจว่าจะส่งออกได้ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3-5%

ข่าวแนะนำ