TNN online ผู้ค้าแพลตตินั่มอ่วมปิดตัวกว่า 50% คาดเจ๊งถาวรกว่า 1 พันราย

TNN ONLINE

Wealth

ผู้ค้าแพลตตินั่มอ่วมปิดตัวกว่า 50% คาดเจ๊งถาวรกว่า 1 พันราย

ผู้ค้าแพลตตินั่มอ่วมปิดตัวกว่า 50%  คาดเจ๊งถาวรกว่า 1 พันราย

ร้านค้าแพลตตินั่นอ่วมสังเวยโควิดคาดยืดเยื้อเจ๊งปิดกิจการปายปีไม่ต่ำกว่าพันราย หลังลูกค้าชาวต่างชาติหดหายจากการปิดประเทศ

นายก่อพงศ์ ธารสุวรรณ แอดมินกลุ่มผู้ค้าแพลตตินั่มแฟชั่นมอลล์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในห้างแพลตตินั่มฯ อย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปิดประเทศในช่วงเริ่มต้นโควิด-19 ในต้นปี 2563 เนื่องจากลูกค้าของ แพลตตินั่มฯ กว่า 70% เป็นยอดซื้อจากชาวต่างชาติ เป็นของคนไทยประมาณ 30% ดังนั้นเมื่อต่างชาติเข้าประเทศมาไม่ได้ยอดขายส่วนใหญ่ก็หายไป 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2563 – ต้นปี  2564 ยอดขายก็กระเตื้องขึ้นมาบ้างจากผู้ซื้อในไทย ซึ่งจากสัดส่วนคนไทยที่มาซื้อ 30% กลับมาได้ประมาณ 15-20% พอที่จะประคอบตัวไปได้บ้าง แต่ยอดขายก็หายไปมาก จากเฉลี่ยห้องละประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน เหลือเพียง 3 หมื่นบาท แต่หลังจากล็อกดาวน์รอบล่าสุดยอดขายหายไป 100% ทำให้มีผู้ประกอบการใน แพลตตินั่มฯ ประมาณ 80% น่าจะต้องปิดกิจการ จากผู้ประกอบการทั้งหมดประมาณ 2 พันราย ขึ้นอยู่กับส่ายป่านว่ามีมากน้อยแค่ไหน 


ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นและลากยาวไปถึงช่วงปลายปีที่หมดสัญญากับห้าง คาดว่าจะมีผู้ประกอบการกว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 1 พันราย จะไม่ต่อสัญญาต้องปิดกิจการถาวร เพราะมองว่ายอดขายคงจะย่ำแย่ต่อเนื่อง เพราะว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ หากโควิด-19 ยังอยู่ และกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลับเข้าสู่ระดับเดิมได้ยาก ต้องใช้เวลาอีกนานซึ่งขณะนี้ก็ไม่สามารถประเมินได้ จึงต้องปิดกิจการไปทำอย่างอื่น รวมทั้งค่าเช่าห้างแพรตตินั่ม ก็สูงมากเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนบาท หากลูกค้ายังไม่กลับมาก็ยากที่จะดำเนินกิจการ 


“ที่ผ่านมาทาง แพลตตินั่ม ก็ลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการ 70% ในช่วงโควิด-19 แต่ยอดขายที่ลดลงมาก อย่างร้านของเราปกติมียอดขายวันละ 2 หมื่นบาท แต่ในปีก่อนที่มีโควิด-19 ยอดขายเหลือ 6-7 พันบาทต่อวัน แต่หลังจากเดือนเม.ย. – มิ.ย. ที่ผ่านมา เหลือวันละ 300 – 600 บาท และล่าสุดไม่มีรายได้เลย ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้บางรายต้องหันไปทำธุรกิจอื่น” 


นอกจากนี้ มาตรการรัฐที่ออกมา ก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการมากเท่าไร เช่น ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ก็เสียภาษีให้กับรัฐทุกปี กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะต้องไปลงทะเบียนในระบบ ม.40 ก่อน ซึ่งมองว่ารัฐบาลมาฐานการเสียภาษีของผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้อยู่แล้ว ควรจะให้ความช่วยเหลือผู้ที่เสียภาษีก่อน หากช่วยกลุ่มนี้แล้วก็ค่อยออกมาตรการอื่นไปช่วยเหลือผู้ที่ไม่เสียภาษีต่อไป ไม่ใช่ไปเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น 


ในส่วนของลูกจ้างในแพลตตินั่มฯ ประมาณ 3 พันคน ส่วนใหญ่ในแพลตตินั่มฯ จะเป็นต่างด้าวที่จ่ายเงินประกันสังคมทุกปี แต่รัฐไม่ให้การช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้ให้แต่เฉพาะลูกจ้างประกันสังคมที่เป็นคนไทย ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะจ่ายเงินเข้าประกันสังคมต่อเนื่องทุกปีเหมือนกัน ซึ่งหากรัฐให้แรงงานกลุ่มนี้เดือนละ 3 พันบาทเท่ากับแรงงานไทย ก็จะช่วยลดภาระค่าจ้างให้กับผู้ประกอบการลดรายจ่ายในเรื่องนี้ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายต้องจ่ายเงินให้ทุกเดือนแม้จะเปิดร้านไม่ได้ เพราะเมื่อเสียลูกจ้างที่มีประสบการณ์ไป ก็จะหาลูกจ้างดีดีได้ยาก 


“คนไทยไม่ค่อยเข้ามาทำงานในร้านที่เป็นเอสเอ็มอี ชอบไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า ทำให้เอสเอ็มอีรายย่อยจำเป็นต้องใช้ลูกจ้างต่างด้าว ซึ่งหากรัฐไม่เข้ามาช่วยลูกจ้างกลุ่มนี้ ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเอสเอ็มอีให้รับภาระหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นควรจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้”


ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบการไปสู่การค้าออนไลน์ ก็ทำได้ยาก เพราะผู้ประกอบยอดเสียเงินค้าเช่าที่แพง ๆ เพราะต้องการมีหน้าร้าน เพื่อขายให้กับชาวต่างชาติและคนไทยโดยตรงเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้โดยตรง เพราะการเลือกซื้อเสื้อผ้าจำเป็นต้องเข้ามาสัมผัสเนื้อผ้า ดูแบบ และลองสวมใส่ ส่วนการขายออนไลน์เป็นช่องทางเสริมใช้หน้าร้านส่งสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องดิ้นรนไปขายสินค้าอื่น และขายออนไลน์ เพื่อประคองให้อยู่รอดแต่รายได้ก็ไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม 



สำหรับผลประกอบการของบริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ล่าสุด มียอดขายในปี 2563 อยู่ที่ 835 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 2,333 ล้านบาท และใน 3 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้ 133 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 429 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ