TNN online บาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่าทุบสถิติใหม่ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์

TNN ONLINE

Wealth

บาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่าทุบสถิติใหม่ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์

บาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่าทุบสถิติใหม่ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์

ธนาคารกรุงไทยเผย ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่าทุบสถิติใหม่ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอ หลัง COVID ยังระบาดหนัก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.69 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.66 บาทต่อดอลลาร์  แม้ว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดจะเน้นย้ำ ว่าเฟดจะไม่เร่งรีบใช้ลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) ทว่า ความกังวลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก รวมถึงความกังวลว่า โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเข้าใกล้จุดพีค ได้กลับมากดดันให้ ตลาดพลิกมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.33% โดยส่วนหนึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯเผชิญแรงกดดันจากความผันผวนของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงหนัก ตามราคาน้ำมันดิบ WTI และ เบรนท์ ที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่ม OPEC+ มีแนวโน้มจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพิ่มกำลังการผลิตได้


ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดลบ -1.05% ตามการปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม โดยความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจได้กดดันให้ ตลาดเลือกจะเทขายทำกำไรหุ้นธีม Cyclical ออกมา อาทิ Volkswagen -2.4%, BMW -1.84% ส่วนหุ้นกลุ่มการเงินก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน Intesa Sanpaolo -1.25% อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับฐานหุ้นยุโรปเป็นเพียงแค่การปรับฐานในระยะสั้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มผลกำไรหุ้นยังสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หุ้นยุโรปจะกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก สอดคล้องกับมุมมองของผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จาก Bank of America’s Global Fund Manager Survey ล่าสุด ที่มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นยุโรปมากขึ้น


ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลง รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดจะยังไม่รีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.30% อย่างไรก็ดี แม้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานก็ยังสนับสนุนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ แต่ทว่า ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนของตลาดในระยะสั้น  ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.57 จุด ส่งผลให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.181 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยยอดนิยม อย่างเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าแตะระดับ 109.7 เยนต่อดอลลาร์ เช่นเดียวกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 


สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ  โดยตลาดจะประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน จะหดตัวราว -0.4% จากเดือนก่อนหน้า แต่การหดตัวของยอดค้าปลีกอาจไม่ได้แปลว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะมีปัญหา เนื่องจาก ยอดค้าปลีกอาจชะลอลงบ้าง หลังปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา หมดลง แต่โดยรวมเทรนด์ยอดค้าปลีกยังปรับตัวสูงขึ้น หนุนโดยแนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึง ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.5 จุด สะท้อนว่า การบริโภคในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ และจะส่งผลให้ธนาคารกลางในฝั่งเอเชียเลือกที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเรามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ -0.10% พร้อมคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ 0.0% และเดินหน้าทำคิวอีต่อ หลังเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี เพราะแม้จะมีการจัด Tokyo Olympic แต่ก็ไม่มีผู้ชมสำหรับรายการแข่งใน Tokyo และพื้นที่ข้างเคียง ทำให้เศรษฐกิจแทบไม่ได้รับอานิสงส์จากการจัด Olympic ตามที่เคยประเมินไว้


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย 

โดย หากสถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มเลวร้ายลง เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ 


นอกจากนี้ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ที่กดดันแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวัง เพราะหากผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็ยังสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) ทำให้ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้นนี้


มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80 บาท/ดอลลาร์

บาทเปิดตลาดวันนี้ อ่อนค่าทุบสถิติใหม่ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์

ข่าวแนะนำ