TNN online เวิลด์แบงก์-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพาเหรดหั่นเป้าจีดีพีวิตกโควิดพุ่งทุบเศรษฐกิจ

TNN ONLINE

Wealth

เวิลด์แบงก์-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพาเหรดหั่นเป้าจีดีพีวิตกโควิดพุ่งทุบเศรษฐกิจ

เวิลด์แบงก์-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพาเหรดหั่นเป้าจีดีพีวิตกโควิดพุ่งทุบเศรษฐกิจ

เวิลด์แบงก์-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพาเหรดหั่นเป้าจีดีพีกันถ้วนหน้า หลังโควิดพุ่ง ชี้รัฐงัดมาตรการสกัดกระทบธุรกิจ-การจ้างงาน คาดนักท่องเที่ยวลดลงอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน ส่งออกโต 11.5% ชี้การช่วยเหลือคนยากจน-แรงงานนอกระบบต้องเดินหน้าต่อ

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 1 % จากประมาณการเดิมที่ 1.8% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน ส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม  ขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐคาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม


ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสและจำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ลงอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน จากกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5 แสน-1.2 ล้านคน แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการ  ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์และโครงการ สมุย พลัส โมเดล” 


อย่างไรก็ดี แผนการเปิดประเทศในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง


สำหรับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกไทยปีนี้ จะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 11.5% ทั้งนี้ ประมาณการส่งออกนี้ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม


ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม 


อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 


นอกจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ 1.0%


  

"เวิลด์แบงก์"   ชี้การช่วยเหลือคนยากจน-แรงงานนอกระบบต้องเดินหน้าต่อ


 นางสาวเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย หรือเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า  เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงถูกกระหน่ำอย่างหนักต่อไปอีกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีได้ปรับลดจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้เพียง 2.2%  จากเดิม 3.4% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. ขณะที่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย "เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ฉบับล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร์ในวันนี้ (15 ก.ค.) มองว่าการให้ความช่วยเหลือคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานนอกระบบ ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


ทั้งนี้อนาคตที่ดูซึมลงเป็นผลมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่มีต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามามีจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปี 2564 จากเดิมประเทศไทยมีสถิติจำนวนการเข้ามาของนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนในปี 2562 แต่จำนวนที่คาดการณ์สำหรับปี 2564 ถูกปรับลดลงอย่างมากจาก 4-5 ล้านคนเหลือเพียง 6 แสนคนเท่านั้น


 "ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจนแต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาลส่งผลเป็นที่น่าพอใจในการบรรเทาผลกระทบ โดยพื้นที่การคลังของประเทศไทยยังคงมีเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือนยากจนและผู้ที่ลำบากมากที่สุดในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า"


นางสาวฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ค่อนข้างดีในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง รัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนจากเดิมที่อยู่ในระดับไม่มากนักมาเป็นชุดของมาตรการให้เงินเยียวยาในระดับแถวหน้าของโลกเพื่อการรับมือกับโควิด-19 การจำลองสถานการณ์เบื้องตันบ่งบอกว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 780,000 คนในปี 2563 หากรัฐบาลไม่ได้เพิ่มความช่วยเหลือทางสังคม
         
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนกระทั่งปี2565 โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) น่าจะอยู่ที่ 5.1% อย่างไรก็ตามความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการฉีดวัดซีนของประเทศไทย ประสิทธิผลของมาตรการสนับสนุนทางการคลัง และระดับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ


ขณะที่การส่งออกสินค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตผลทางการเกษตร แต่ความเสี่ยงในด้านลบมีค่อนข้างมาก เนื่องจากการฟื้นตัวอาจต้องล่าช้าออกไปเพราะมีโควิด-19 ลายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การรักษาและวัคซีนที่มีอยู่ไม่เป็นผล



ข่าวแนะนำ