TNN online เงินบาทอ่อนทุบนิวไฮใหม่รอบ 14 เดือน

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทอ่อนทุบนิวไฮใหม่รอบ 14 เดือน

เงินบาทอ่อนทุบนิวไฮใหม่รอบ 14 เดือน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้แตะระดับ 32.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าสุดในรอบ 14 เดือน หลังตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงจากปัญหาไร้ทิศทางเพิ่มกำลังผลิตกลุ่มโอเปกพลัส-ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งไม่หยุด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  32.29 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 14 เดือน นับจาก 5 พ.ค.63  


ทั้งนี้เนื่องจากตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ที่กดดันให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบ -2%, ปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta  และ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนมิถุนายน ที่ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 60.1 จุด 


ภาวะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell2000 ที่ปรับตัวลดลงกว่า -1.36% ส่วนดัชนี Dowjones และ S&P500 ย่อตัวลงราว -0.60% และ -0.20% ตามลำดับ 


ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.17% เป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ล่าสุด ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.35%     


ส่วนยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดตลาด -0.85% จากแรงเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้น Industrial, Energy และ Financial อาทิ Daimler -4.01%, Volkswagen -3.93%, BNP Paribas -3.19%, ING -3.17%, Total Energies -2.08%, Eni -1.78% 


ทางด้านตลาดบอนด ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเพื่อสถานะถือครองบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.35% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน หลังผู้เล่นส่วนใหญ่เริ่มปรับลดน้ำหนักโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงลดความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 


ขณะเดียวกันความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างบอนด์ก็ถูกหนุนโดย ความผันผวนในตลาดการเงินจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงความวุ่นวายของการประชุม OPEC+ ที่ฉุดราคาน้ำมันดิบดิบเบรนท์และ WTI พลิกกลับมาลดลงเกือบ -2% สู่ระดับ 74.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 73.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ 


ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก สวนทางกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด (Safe Haven Assets) ทำให้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.54 จุด กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.182 ดอลลาร์ต่อยูโร 


ส่วนค่าเงินกลุ่ม Commodities-linked อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ก็พลิกมาอ่อนค่าลง สู่ระดับ 0.749 ดอลลาร์ต่อ AUD ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดอลลาร์ สู่ระดับ 110.5 เยนต่อดอลลาร์ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน 


นอกจากนี้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำ ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านระดับดังกล่าวได้ กดดันโดยการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์


สำหรับวันนี้ตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 


ส่วนยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOTLS Job Openings) พุ่งขึ้น สู่ระดับ 9.3 ล้านตำแหน่ง นอกเหนือจาก รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม รายงานผลการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน หรือ FOMC Meeting Minutes  (ซึ่งจะทราบช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้)โดยเฉพาะรายละเอียด เกี่ยวกับการลดคิวอี (QE Tapering) 


รวมถึงแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ว่า เฟดจะใช้ข้อมูลใดเป็นหลักในการช่วยตัดสินใจ รวมถึง แผนการลดคิวอีและแนวทางการสื่อสารกับตลาดการเงิน เป็นต้น 


นอกจากนี้ตลาดจะติดตามแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 รวมถึงอัตราการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก หลังการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชียยังมีความรุนแรงอยู่


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและ มีโอกาสผันผวนตามเงินดอลลาร์ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทยที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท 


นอกจากนี้ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-Off) จะช่วยหนุนให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้นในระยะสั้นเพื่อหลบความผันผวนหนุนให้โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่


ขณะเดียวกันสถานการณ์การระบาดในไทยที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อรายวันในระดับสูง รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าจะยังคงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้


ทั้งนี้เรามองว่าควรระวัง โอกาสที่ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 32 บาทต่อดอลลาร์ และผู้ส่งออกต่างก็ขยับไปรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 32.25-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ดังนั้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียวมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.25-32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ส่วนราคา Bitcoin วันนี้ อยู่ที่ 1,093,000 บาท/Bitcoin  ปรับเพิ่มขึ้น 0.32% ส่วนราคา Ethereum 74,470.04 บาท/Ethereum ปรับเพิ่มขึ้น 3.89%   (ข้อมูล ณ เวลา 8.45 น. )

เงินบาทอ่อนทุบนิวไฮใหม่รอบ 14 เดือน


ข่าวแนะนำ