TNN online พิษโควิดกดบาทอ่อนใกล้ทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ

TNN ONLINE

Wealth

พิษโควิดกดบาทอ่อนใกล้ทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ

พิษโควิดกดบาทอ่อนใกล้ทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าทำสถิติใหม่ในรอบ 13 เดือนกว่า นับจาก 19 พ.ค.63 หลังโควิดพุ่งไม่หยุด แนะผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าทำสถิติใหม่ในรอบ 13 เดือนกว่า นับจาก 19 พ.ค.63  เป็นผลมาจากความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้


นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ ผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่ 


ทั้งนี้ควรจับตาแนวต้านสำคัญของเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว ในเชิงเทคนิคัล ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยคุมไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน 


สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียวมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.85-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น และเริ่มเห็นการทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงในธีม Cyclical Trades มากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดการเงินมีความกังวลต่อปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ที่ได้กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศจากการเลื่อนแผนผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และยังทำให้รัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางจากประเทศอังกฤษ 


แรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Cyclical ได้กดดันให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลดลงกว่า -0.44% ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ที่ย่อตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.48% (โดยรวมยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways) ได้หนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.98% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.23% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Facebook หลังสามารถชนะคดี Antitrust 


ส่วนทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดจากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -0.75% นำโดยการปรับตัวลงหนักของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยงและการเดินทาง อาทิ  Amadeus -4.45%, Airbus -2.92% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการเงินก็เผชิญแรงขายหนักเช่นกัน ตามการขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical (Safran -4.45%, Santander -2.77%, ING -2.47%) ขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen +1.6%, Infineon Tech. +0.89%, ASML +0.84% ปรับตัวขึ้นตามหุ้นเทคฯในฝั่งสหรัฐฯ


ในฝั่งตลาดค่าเงินเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ อาจชะลอลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สวนทางกับภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 91.87 จุด กดดันให้ เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.387 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ขณะที่ เงินยูโร (EUR) ยังสามารถทรงตัวที่ระดับ 1.192 ดอลลาร์ต่อยูโรได้


สำหรับวันนี้ตลาดจะจับตาการรายงานข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) จากทั้งฝั่งสหรัฐฯ และ ยุโรป โดยในฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นยังได้หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 119 จุด ชี้ว่าการบริโภคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Randal Quarles ซึ่งเป็นหนึ่งใน Voting member ของ FOMC 


ส่วนในฝั่งยุโรป แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังสดใส หลังการแจกจ่ายวัคซีนคืบหน้ามากขึ้น (ครอบคลุมประชากรเกือบ 40% และ อาจใช้เวลา 3 เดือน เพื่อครอบคลุมประชากร 75%) หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -1.0 จุด สะท้อนว่าการบริโภคของครัวเรือนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง 





 

ข่าวแนะนำ