TNN online เงินบาทอ่อน ! ผวาตัวเลขโควิดในประเทศพุ่งไม่หยุด

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทอ่อน ! ผวาตัวเลขโควิดในประเทศพุ่งไม่หยุด

เงินบาทอ่อน ! ผวาตัวเลขโควิดในประเทศพุ่งไม่หยุด

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันปรับตัวสูงขึ้นไม่มีทีท่าลดลง ชี้หากหลุด 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐธปท.อาจลดการถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศป้องกันสหรัฐฯมองไทยแทรกแซงค่าเงิน

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.87 บาทต่อดอลลาร์  โดยแนวโน้มอ่อนค่าจากประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้


นอกจากนี้โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าก็อาจทำให้ผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่ 


อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะนี้เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมฝั่งแข็งค่าหนุนอยู่แต่ยังเชื่อว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าลงได้ เมื่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหรือเอเชียจะกลับมาสดใสมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรปและเอเชียอย่างใกล้ชิด 


ทั้งนี้ควรจับตาแนวต้านสำคัญของเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว ในเชิงเทคนิคัล ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ได้  นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยคุมไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน 


จากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.85-32.00  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง ส่งผลให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้นกว่า 0.95% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.58% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.69% ท่ามกลางความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน บรรลุข้อตกลงกับร่างงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Bill) วงเงินกว่า 5.79 แสนล้านดอลลาร์ที่นำเสนอโดย สมาชิกวุฒิสภา


นอกจากนี้ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน หลังธนาคารใหญ่กว่า 23 แห่งในสหรัฐฯ สามารถผ่านผลการทดสอบ Stresst Test ของธนาคารกลางสหรัฐฯได้ เปิดทางให้ธนาคารสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนได้อีกครั้ง 


ส่วน ทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้ช่วยให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.14% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen +5.67%, ASML +2.05% และ Infineon Tech. +1.7% ส่วนหุ้นสถานบันการเงินโดยรวมก็ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 1% ตามหุ้นกลุ่มการเงินในฝั่งสหรัฐฯ 


อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงประธานเฟด ที่ส่วนใหญ่ออกมาในเชิงว่าเฟดจะยังไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ย ได้ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวใกล้ระดับ 1.49% ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัวในกรอบต่อไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อ รวมถึงตลาดจะรอการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่อาจเกิดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole


ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ เคลื่อนในกรอบ Sideways โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 91.80 จุด หลังตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนมีไม่มาก แต่เงินดอลลาร์ก็ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดทยอยใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับหลายธนาคารกลางอื่นๆ ในขณะนี้ ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.392 ปอนด์ต่อดอลลาร์ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยืนกรานคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% พร้อมเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำ QE ด้วยวงเงินกว่า 8.95 แสนล้านปอนด์ เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 


สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด (PCE) โดยตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและระดับฐานราคาสินค้าในปีก่อนหน้าที่ต่ำไปมากในช่วงวิกฤติ COVID-19 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) เดือนพฤษภาคม พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.9% อย่างไรก็ดี การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้ออาจเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราว สะท้อนจากมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังไม่กังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อมากนัก ทำให้หากเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก และปัจจัยหนุนการเร่งตัวขึ้นล้วนเป็นปัจจัยชั่วคราว ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนมิถุนายน ที่ตลาดคาดว่า จะปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 86.4 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังสามารถคุมการระบาด COVID-19 ได้ดี จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown


ข่าวแนะนำ