TNN online ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ครองแชมป์ธุรกิจดาวเด่นเดือนพ.ค.64

TNN ONLINE

Wealth

ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ครองแชมป์ธุรกิจดาวเด่นเดือนพ.ค.64

ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ครองแชมป์ธุรกิจดาวเด่นเดือนพ.ค.64

 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ครองแชมป์เบอร์ 1 ธุรกิจดาวเด่นเดือนพฤษภาคม 2564 ชี้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งธุรกิจใหม่และผลประกอบการสิ้นปี พร้อมจับตามองนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าช่วยดันยอดขายเพิ่มขึ้น 9.55%

  นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ‘ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์’ ครองแชมป์เบอร์ 1 แบบแรงดี...ไม่มีตก ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดตั้งธุรกิจใหม่และผลประกอบการสิ้นปี ส่งผลให้เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ธุรกิจได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนด้านสินเชื่อยานยนต์ เช่น การลดค่างวด หรือการพักชำระค่างวด และการรวมหนี้สินเชื่อ เป็นต้น ดังนั้น ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ยังคงมีความแข่งแกร่งและเติบโตได้อีกมาก


โดยจากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2561 - 2564 พบว่า ปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย ทุนจดทะเบียน 124.50 ล้านบาท ปี 2562 จัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย ทุนจดทะเบียน 820.80 ล้านบาท แต่ในช่วงปี 2563 - 2564 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อัตราการจดทะเบียนจัดตั้งมีความผันผวนและชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ โดยในปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย ทุนจดทะเบียน 83.21 ล้านบาท และปี 2564 (มกราคม - พฤษภาคม) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ จำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียน 36.50 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.71 (มกราคม - พฤษภาคม 2563 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียน 32.20 ล้านบาท)


นักลงทุนชาวต่างชาติ สัญชาติที่ลงทุนในธุรกิจฯ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 70,587.18 ล้านบาท (ร้อยละ 39.19) สิงคโปร์ 4,290.14 ล้านบาท (ร้อยละ 2.38) และมาเลเซีย 1,001.02 ล้านบาท (ร้อยละ 0.55) โดยธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์มีแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ การลดดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจได้ในอนาคต ส่งผลให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นและลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น”


ทั้งนี้ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) มีธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 418 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าการลงทุน 180,134.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.92 ของเงินลงทุนทั้งหมดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 353 ราย (ร้อยละ 84.45) มูลค่าเงินลงทุน 127,367.97 ล้านบาท โดยธุรกิจนี้ส่วนใหญ่มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 268 ราย (ร้อยละ 64.11)”


อย่างไรก็ตามธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ที่มีบริษัทในเครือของบริษัทยานยนต์ และบริษัทในเครือของธนาคารเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจมีความท้าทายที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้แข่งขันรายใหม่ เช่น บริษัทสินเชื่อ หรือสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ของตลาดยานยนต์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยานยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค รวมทั้ง เทคโนโลยีการให้บริการสินเชื่อดิจิทัลที่เป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคในการเข้าถึงสินเชื่อประเภทต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ที่จะนำเข้าเทคโนโลยีมาแข่งขันทั้งในด้านของการออกสินเชื่อสำหรับการซื้อยานยนต์ภายในประเทศที่ผู้คนต้องการจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และสินเชื่อประเภททะเบียนยานยนต์ ที่ประชาชนต้องการกระแสเงินสดในการดำรงชีพและการหมุนเวียนทางธุรกิจ   


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง