TNN online เงินบาทแข็งหลังดอลลาร์อ่อน "พาวเวล" ยันเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็งหลังดอลลาร์อ่อน "พาวเวล" ยันเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

เงินบาทแข็งหลังดอลลาร์อ่อน  พาวเวล ยันเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตลาดคลายกังวลเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแกร่ง หลัง "พาวเวล" แถลงยืนยัน หนุนบรรยากาศการลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  31.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell และ เจ้าหน้าที่เฟดที่เป็น Voting member ของ FOMC อาทิ Williams, Mester และ Daly ต่างมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังห่างไกลจากปัจจุบันและเฟดจะยังไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าข้อมูลเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่ง 


ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวได้ช่วยให้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คลายความกังวลโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้  อย่างไรก็ดี ทั้งประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างมองสอดคล้องกันว่า การทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง QE Tapering ควรเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อม ซึ่งเฟดจะรอดูทิศทางข้อมูลเศรษฐกิจจนมั่นใจ อาทิ การจ้างงาน ก่อนที่จะทยอยปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องลง


บรรยากาศการลงทุนที่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด ได้หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +0.79% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นสไตลด์ Tech & Growth หลังนักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.51% ทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้นราว +0.26% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในทุกตลาดประเทศ ยกเว้นในฝั่งตลาดหุ้นโปรตุเกส ที่ปรับตัวลดลงกว่า -0.52% จากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Tech & Growth เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ Adyen +1.70%, Infineon Tech. +1.23%, ASML +1.20%, Amadeus +0.98%


ในฝั่งตลาดบอนด์นั้นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงราว 2bps สู่ระดับ 1.47% ตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดที่มองว่าเฟดยังไม่เร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะ การขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัวในกรอบต่อไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อ รวมถึงตลาดจะรอการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่อาจเกิดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole


ส่วนตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดย้ำว่า เฟดยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาดได้ลดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ลง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 91.72 จุด หนุนให้สกุลเงินหลักล้วนปรับตัวแข็งค่าขึ้น อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.194 ดอลลาร์ต่อยูโร เงินปอนด์ (GBP) ก็กลับมาสู่ระดับ 1.394 ดอลลาร์ต่อปอนด์ 


สำหรับวันนี้ตลาดจะให้ความสำคัญกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ผ่านการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ โดย Markit 


ฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเดินหน้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยการแจกจ่ายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรราว 50% ทำให้ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนจากความต้องการบริโภคหลังมาตรการ Lockdown ผ่อนคลายลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการโดย Markit (Manufacturing & Services PMIs) ที่ระดับ 61.5จุด และ 70 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว) 


ด้านฝั่งยุโรป ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการที่ระดับ 62.1 จุด และ 57.9 จุด ตามลำดับ 

 

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทมองว่าปัจจัยกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงไทย 


ขณะที่ ในฝั่งเงินดอลลาร์ก็เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดช่วยคลายความกังวลเฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของตลาด อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ และจะกลับมาอ่อนค่าลงได้ เมื่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหรือเอเชียจะกลับมาสดใสมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรปและเอเชียอย่างใกล้ชิด 


ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากหรืออ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เพราะผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะนี้ทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.65-31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  


ข่าวแนะนำ