TNN online เงินบาทอ่อนทุบสถิติใหม่รอบ 3 สัปดาห์ เฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเข้มงวด

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทอ่อนทุบสถิติใหม่รอบ 3 สัปดาห์ เฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเข้มงวด

เงินบาทอ่อนทุบสถิติใหม่รอบ 3 สัปดาห์   เฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเข้มงวด

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทำสถิติใหม่รอบ 3 สัปดาห์ หลังเฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเข้มงวดหนุนดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่บอนด์ยีลด์พุ่งแตะ 1.58%

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งเป็นการอ่อนค่าในรอบ 3 สัปดาห์นับจาก 24 พ.ค. หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและเตรียมปรับลดการทำคิวอี


ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ เดินหน้าปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.54% หลังจากที่ผลการประชุมเฟดระบุว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้ง ในปี 2023 ซึ่งมากกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองและการถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับ ภาพการทยอยขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตของเฟด


นอกจากนี้แม้ว่าโดยรวม เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00%-0.25% ในการประชุมครั้งนี้  แต่สิ่งหนึ่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น คือ เฟดกำลังเตรียมพร้อมที่จะปรับลดการทำคิวอี ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจส่งสัญญาณลดการทำคิวอีได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และอาจประกาศลดการทำคิวอีได้เร็วกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (ตลาดมองลดจริงต้นปี 2022) 


ทั้งนี้ ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.20% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ และอังกฤษ สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงหนุนและไม่ได้กังวลต่อภาพการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาดของเฟด เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงอยู่ และแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปก็ดีขึ้นต่อเนื่อง


ทางด้านตลาดบอนด์บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 8bps สู่ระดับ 1.58%  ตามแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ทั้งการทยอยลดคิวอี และการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจเกิดได้เร็วกว่าที่ตลาดเคยมองไว้ 


ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน แนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้นกว่าคาดยังได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นเกือบ 1% สู่ระดับ 91.13 จุด กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1994 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินเยน (JPY) ที่อ่อนค่าลงใกล้ระดับ 110.7 เยนต่อดอลลาร์ 


นอกจากนี้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นได้กดดันให้ราคาทองคำร่วงลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,817 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งใกล้กับแนวรับของราคาทองคำในโซน 1,790-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนรอจังหวะ Buy on Dip ทองคำได้


สำหรับวันนี้เรามองว่าหลังตลาดการเงินทราบผลการประชุม FOMC บรรดาผู้เล่นในตลาดก็จะกลับมาให้ความสนใจ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ว่าจะมีทิศทางสอดคล้องกับมุมมองของเฟดล่าสุดหรือไม่ โดยตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.6 แสนราย

 

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ค้าทองคำที่เตรียมทยอย Buy on Dip ทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลงมาใกล้ระดับแนวรับสำคัญ ขณะเดียวกันแรงกดดันฝั่งเงินบาทอ่อนค่ายังมาจากแรงขายหุ้นไทยสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมา ตราบใดที่การแจกจ่ายวัคซีนยังมีปัญหา 


อย่างไรก็ดี มองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากหรืออ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐ เพราะผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หากไม่มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเร่งให้เงินบาทอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มขยับโซนในการแกว่งตัวจากเดิมเคยแกว่งตัวต่ำกว่า 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ก็จะขยับมาในโซน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.40  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ข่าวแนะนำ