TNN online ธปท.จี้แบงก์ช่วยเอสเอ็มอีพ้นวิกฤตหนี้

TNN ONLINE

Wealth

ธปท.จี้แบงก์ช่วยเอสเอ็มอีพ้นวิกฤตหนี้

ธปท.จี้แบงก์ช่วยเอสเอ็มอีพ้นวิกฤตหนี้

ธปท.จี้แบงก์ช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เน้นช่วยเหลือให้ลูกหนี้กลับมามีคุณภาพ คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้และสอดรับกับรายได้ของลูกหนี้ในอนาคต

วันนี้( 12 มิ.ย.64) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค โควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลซ้ำเติมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ระบบสถาบันการเงินยังมีความมั่นคง ด้วยระดับเงินกองทุนเงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ธปท.จึงได้ทบทวนแนวนโยบายการส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และกระตุ้นให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกหนี้ในอนาคต ขณะที่ยังรักษาความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงที่ดีของระบบ สถาบันการเงิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ เช่น กิจการที่ยังไม่เปิดทำการตามปกติ และขยายขอบเขตถึงลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบตามนิยามของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งจะครอบคลุมลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือขยายวงกว้างขึ้น ทั้งนี้สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นหนี้เดิมได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ และระหว่างนี้ให้สถาบันการเงินเข้าไปดูแลลูกหนี้เพื่อเร่งหาแนวทางปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วต่อไป

2.กำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระคืนหนี้ และระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคต ทั้งนี้ ธปท.จะยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้น และการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้

3.ให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของแต่ละแห่งในปี 2563 และไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืน และห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนการออกทดแทน เพื่อคงมาตรการเชิงป้องกันในการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน รองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และบางประเทศในกลุ่มยุโรปที่ยังคงนโยบายจำกัดหรืองดการจ่ายเงินปันผลของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์การระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในช่วงไตรมาส 4 ต่อไป


 สำหรับการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปีนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาความจำเป็นในการขยายอายุ โดยคำนึงถึงการส่งผ่านไปช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ 


ด้าน นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเด็นที่จะต้องเร่งดำเนินการตอนนี้คือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือให้ลูกหนี้กลับมามีคุณภาพ ซึ่งมาตรการพักชำระหนี้เป็นการช่วยเหลือชั่วคราว ซึ่งไม่เพียงพอ สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นและกระตุ้นให้สถาบันการเงินดำเนินการคือปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้และสอดรับกับรายได้ของลูกหนี้ในอนาคต ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลในมาตรการชะลอการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายนนี้ ครอบคลุมลูกหนี้เอสเอ็มอี วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท พบว่ากว่า 65% กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ อีก 30% มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยังเหลืออีก 2% ที่ยังมีปัญหาแต่ยืนยันว่าจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม ธปท.ตัดสินใจขยายมาตรการนี้ออกไปอีกหลังเกิดการระบาดใหม่รอบที่ 3 โดยขยายมาตรการเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดได้ เช่น กิจการที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง