TNN online กลุ่มปิโตรเคมีรับกระแสรักสุขภาพต่อยอดธุรกิจ

TNN ONLINE

Wealth

กลุ่มปิโตรเคมีรับกระแสรักสุขภาพต่อยอดธุรกิจ

กลุ่มปิโตรเคมีรับกระแสรักสุขภาพต่อยอดธุรกิจ

วิกฤตโควิดกลายเป็นโอกาสต่อยอดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรับเทรนด์โลก ด้วยการสร้างนวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จับกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีอัตราการเติบโตสูง


สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส   COVID-19  ไปทั่วโลกอย่างรุนแรงในช่วงปี 2563 -2564  ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธุรกิจ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคไปสู่บริบทใหม่ หรือ New Normal ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ที่ได้เปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่สำคัญให้เกิดขึ้น 


จากการต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่  พร้อมๆ กับกระแสความต้องการของผู้บริโภคในช่วงการระบาดของ COVID-19   อาทิ  ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยและสาธารณสุข  หลังจากพบว่า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และ กลุ่มพลังงาน ตัวอย่างเช่น  เม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้ ต้องอาศัยการนำเข้าเท่านั้น ทำให้กลุ่มบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากสายการผลิตเดิมที่มี ทั้งกลุ่ม ปตท. กลุ่ม SCG และ บมจ.ไออาร์พีซี  


เริ่มจาก บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ โดยการรับความท้าทายดังกล่าวด้วยการปรับโครงสร้างรูปแบบการทำธุรกิจ  ซึ่งายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  อธิบายแนวทางธุรกิจใหม่ว่า  สถานการณ์ขณะนี้ ถือเป็นความท้าทายที่บริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทใหม่ หรือ New Normal  ไปพร้อมๆ กับเทรนด์ใหม่ของโลก (Global Megatrends)  ด้วยการสร้างนวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคการมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความเป็นอยู่ของประชากรโลก โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤต COVID - 19  ทำให้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพ  การมีความเป็นอยู่ที่ดี  รวมถึงการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อม  



 ผลิตภัณฑ์พิเศษต่อยอดธุรกิจ


กลุ่มปิโตรเคมีรับกระแสรักสุขภาพต่อยอดธุรกิจ



โดยไออาร์พีซี ได้วางกลยุทธ์แบบ Human Centric หรือการใกล้ชิดและเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และสร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ ไปสู่ Smart Material เพื่อให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่   โดยจับกลุ่ม


ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่  อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลากหลาย เช่น หน้ากากอนามัย ถุงเลือด  ถุงอาหาร ถุงล้างไตสำหรับผู้ป่วย ที่ผลิตจากเม็ด PP เกรดพิเศษและผลิตภัณฑ์ NBL (Nitrile Butadiene Latex) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตถุงมือแพทย์  


ทั้งนี้ เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงและแข็งแกร่งแก่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกได้ในอนาคต  ซึ่งการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจผ่านการจับมือกับพันธมิตร  โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษสูงถึง  30 % ภายในปี 2567


ขณะเดียวกันยังมุ่งไปสู่ Smart Energy   โดยจับเทรนด์สำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาดที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เติบโตอย่างมาก ภายใต้โรดแมปการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยปี 2578 ซึ่ง ไออาร์พีซี กำลังเร่งวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ Battery Separator และ Li-Ion Electrode  ด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และขยายการเติบโตทางธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักธรรมาภิบาล 



ชูกลยุทธ์ 3S สู่ความสำเร็จธุรกิจ 


กลุ่มปิโตรเคมีรับกระแสรักสุขภาพต่อยอดธุรกิจ


ทั้งนี้ ไออาร์พีซี ได้วางกลยุทธ์ 3S ไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 1. Strengthening the core  การเพิ่มความสามารถการแข่งขันของธุรกิจหลัก ได้แก่ แผนการลงทุนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 ที่คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566  รวมทั้งกระบวนการทำงาน IRPC 4.0 ด้วยการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร  


 2. Striving the growth การขยายการลงทุนธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยให้ความสำคัญการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ จับมือพันธมิตรขยายธุรกิจสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ อาทิ ร่วมทุนกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100%) จัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด  ขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และจับมือกับ บริษัท เจแปน โพลีโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (JPP) ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


3. Sustaining the future การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยการใช้พลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ปตท. ดัน New S-Curve ต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่า


ขณะที่กลุ่มปตท. ก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยผ่าน บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทลูกที่ ดำเนินธุรกิจใหม่อย่างยั่งยืน ตามกล ยุทธ์ New S-Curve Life Science  โดยให้ความสำคัญกับ Supply Chain และ Value Chain  แบ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิม เช่น โรงกลั่น เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการ Synergy ระหว่างกลุ่ม  ส่วนธุรกิจปัจจุบันจะต้องเพิ่มมูลค่าให้ Pro duct ที่เรียกว่า The Now หากเป็นธุรกิจปิโตรเคมีต้องก้าวไปสู่เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) เพราะในอนาคตอุตสาห 

กรรม 4.0 ทั้งรถยนต์ EV การบิน จะต้องใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา คุณภาพดี ทนการกัดกร่อน ธุรกิจสถานีบริการ จะเน้นเรื่อง Mobility and Lifestyle    


ธุรกิจใหม่ปตท. ได้ศึกษาเรื่อง 12 New S-Curve ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยพบว่า ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น จะต้องเกี่ยวกับไฟฟ้า พลัง งานทดแทน และ EV แบตเตอรี่  ปิโตรเคมีขั้นปลาย จะเกี่ยวกับ Life Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สุขภาพ  อาทิ อาหาร ยา ฟิวเจอร์ฟู้ด อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งบางส่วนมาจากปิโตรเคมี


รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือไบโอเทคโนโลยี  ระบบการวินิจฉัยโรคและเมดิคอล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเทคโน โลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่างๆ  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย)  เพื่อตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะไบโอเทคโนโลยีอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ เรื่องที่นำไปสู่คุณภาพชีวิต เพราะปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว


แม้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มปิโตรเคมี ต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย แต่การปรับตัวด้วยกลยุทธ์ควบคู่กับการสร้างนวัตกรรม จะทำให้ธุรกิจในกลุ่มปิโตรฯ เห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภควิถีใหม่ พร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ


นอกจากบริษัทในกลุ่มปตท. แล้ว ยังมีบริษัทพลังงานอื่นๆ อาทิ ราชกรุ๊ป ที่เข้าไปซื้อหุ้น บริษัท   พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด  10%  ซึ่งเป็นการลงทุนธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศ ที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างมีนัยในระยะยาวจากสภาวะสังคมผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ที่กลายเป็นตัวเร่งการเติบโตสำคัญของทั้งห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจ  และยังรวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์  นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพด้วย

ข่าวแนะนำ