TNN online ดาวโจนส์ ปิดลบ 30.42 จุด ตลาดซบเซา รอข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ

TNN ONLINE

Wealth

ดาวโจนส์ ปิดลบ 30.42 จุด ตลาดซบเซา รอข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ

ดาวโจนส์ ปิดลบ 30.42 จุด ตลาดซบเซา รอข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ

ดาวโจนส์ ปิดที่ 34,599.82 จุด ลดลง 30.42 จุด นักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่สหรัฐฯ จะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ ขณะที่ ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก

วันนี้ (9 มิ.ย.64) ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่ซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่สหรัฐฯ จะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันพฤหัสบดีนี้ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรม ดาวโจนส์ ปิดที่ 34,599.82 จุด ลดลง 30.42 จุด หรือ -0.09%

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,227.26 จุด เพิ่มขึ้น 0.74 จุด หรือ +0.02%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,924.91 จุด เพิ่มขึ้น 43.19 จุด หรือ +0.31%

ทั้งนี้ นักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลง 8.2% สู่ระดับ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.90 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 7.50 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.3 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธ.ค.2543 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.18 ล้านตำแหน่ง

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง