TNN online โควิด-19 ระลอก 3 ฉุดการใช้จ่ายในประเทศหดตัวไตรมาส2

TNN ONLINE

Wealth

โควิด-19 ระลอก 3 ฉุดการใช้จ่ายในประเทศหดตัวไตรมาส2

โควิด-19 ระลอก 3 ฉุดการใช้จ่ายในประเทศหดตัวไตรมาส2

"กรุงศรี"เผยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนเม.ย.64 ร่วงลงจากเดือนก่อน -4.3% พร้อมคาดโควิด-19 ระลอก 3 ฉุดการใช้จ่ายในประเทศหดตัวไตรมาส2 แต่ยังมีแรงหนุนจากภาคการส่งออกช่วยพยุงเศรษฐกิจ

วันนี้( 8 มิ.ย.64) วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในรอบสัปดาห์นี้ว่า การระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 ฉุดการใช้จ่ายในประเทศเดือนเมษายนให้อ่อนแอลง แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวโดยมีแรงหนุนจากภาคส่งออก โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนเมษายนกลับมาหดตัวจากเดือนก่อน (-4.3% MoM sa)  ตามการลดลงในทุกหมวดการใช้จ่าย เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บ้าง ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงจากเดือนก่อนเช่นกัน (-3.1%) ตามการลดลงในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์


 ทั้งนี้สอดคล้องกับความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับลดลงในทุกหมวด ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำมาก จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ และการท่องเที่ยวในประเทศยังถูกกดดันจากสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าภาคส่งออกยังขยายตัวดีต่อเนื่อง (19.1% YoY) และเมื่อหักการส่งออกทองคำ มูลค่าส่งออกจะยิ่งเติบโตสูงถึง 37.0% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า และช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน


โดยกรุงศรีคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดระลอกสามของ COVID-19 ที่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศและมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเกินแสนคน ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอลง อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอาจไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบแรก เนื่องจากภาคส่งออกในปีนี้ยังมีทิศทางขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยล่าสุดสัญญาณภาคการผลิตของโลกเดือนพฤษภาคมปรับดีขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่ข้อมูลสินค้าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรกของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 64.5% ของมูลค่าส่งออกรวม) มีสินค้า 14 รายการ (สัดส่วน 42.3%) ที่มีมูลค่าส่งออกในเดือนล่าสุดอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาด (ไตรมาส 4/2562) อาทิ  ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลิตภัณฑ์เคมี เม็ดพลาสติก เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกมีการปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ การส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นกระจายในหลายสาขานับเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้


มาตรการลดค่าครองชีพช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม คาดครึ่งปีหลังมีแนวโน้มทยอยชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 2.44% YoY ชะลอลงจาก  3.41% ในเดือนเมษายน ผลจากมาตรการภาครัฐในการปรับลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี รวมทั้งการลดลงของราคาในกลุ่มอาหารสด เนื่องจากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของ COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้มีการปิดตลาดและสถานประกอบการหลายแห่ง ทำให้กำลังซื้อและปริมาณการบริโภคชะลอตัว ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (+36.49%) ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนพฤษภาคมสะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง โดยลดลงอยู่ที่ -0.11% MoM จากเดือนเมษายนที่ +0.14%


อย่างไรก็ดีปัจจัยชั่วคราวจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนและพฤษภาคมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม ผลของมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพชั่วคราว (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปค่อยๆ ทยอยลดลง สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อผลของฐานต่ำในปีก่อนหมดลง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะไม่ติดลบหรือต่ำมากเท่าช่วงต้นปี เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ผนวกกับได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 1.1%

          


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง