TNN online ส.อ.ท. แนะรัฐเพิ่มวงเงิน"คนละครึ่ง" เป็น 6,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ

TNN ONLINE

Wealth

ส.อ.ท. แนะรัฐเพิ่มวงเงิน"คนละครึ่ง" เป็น 6,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ

ส.อ.ท. แนะรัฐเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ

ส.อ.ท. แนะรัฐเพิ่มวงเงิน"คนละครึ่ง" เป็น 6,000 บาท เร่งออกมาตรการพยุง SME เพิ่มเติม พร้อมประเมินเงินกู้ 5 แสนล้านไม่เพียงพอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวทันกลางปี 65

วันนี้( 3 มิ.ย.64) นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.64 รวมให้เงิน 3,000 บาท ครอบคลุมประชาชน 31 ล้านคน เป็นระยะเวลาเริ่มต้นโครงการที่ช้าไปควรเริ่มโครงการได้ทันทีในเดือนมิ.ย.นี้  ขณะที่วงเงินที่ให้น้อยไปอาจไม่เพียงพอกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ  โดยที่ผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มีความเห็นว่าวงเงินโครงการคนละครึ่งควรอยู่ที่ 6,000 บาท เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจให้ได้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าโครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่เห็นผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วและกระตุ้นได้มากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล


นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 6 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ "มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจSME" พบว่า ผู้บริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรือ ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 อันเนื่องมาจากความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบการเช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 30 และการลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการ ค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและพื้นที่เช่าโรงงาน ร้อยละ 50 เป็นต้น   โดยการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อ SME มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 89.4 รองลงมามองว่าได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับปี 2563 และน้อยกว่าปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 5.3 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ  

          

โดยนายวิรัตน์เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME ของภาครัฐในปัจจุบัน ส.อ.ท.มองว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของSME ได้ 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่นคนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 71.2 รองลงมาเป็นมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝั่งละ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 64.7 และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 คิดเป็นร้อยละ 61.8 อย่างไรก็ตามภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ


FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมจะออก พ.ร.ก. กู้เงิน5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ว่าควรนำเงินดังกล่าวไปใช้ในเรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหารส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 74.1 รองลงมาเป็นการช่วยเหลือ เยียวยาให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 70.6 และแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ65.9 ขณะเดียวกันประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 37.1 รองลงมาเป็นช่วงปลายปี 2565 คิดเป็น ร้อยละ 23.5 อีกทั้งมองว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 21.8 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564 คิดเป็นร้อยละ17.6




ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง