TNN online เงินบาทแข็งค่า ! ทุบสถิติในรอบเกือบ 3 สัปดาห์

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็งค่า ! ทุบสถิติในรอบเกือบ 3 สัปดาห์

เงินบาทแข็งค่า ! ทุบสถิติในรอบเกือบ 3 สัปดาห์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ หลังจากดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงรอดูสัญญาณการฟื้นตัวการจ้างงานในสหรัฐฯ จับตาผลประชุมโอเปกวันนี้

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังจากเศรษฐกิจยุโรปปรับตัวดีขึ้น   ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทวันนี้ทำสถิติใหม่รอบเกือบ 3 สัปดาห์นับจาก 13 พ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 31.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


แม้ว่าวานนี้จะเป็นวันหยุดในฝั่งสหรัฐฯ ทว่า โดยรวมตลาดการเงินก็กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดการเงินกลับมาขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อรอดูสัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานในฝั่งสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อได้ 


โดยแรงเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงดังกล่าวจะเห็นได้ชัดในฝั่งยุโรป ที่นักลงทุนทยอยขายทำกำไรหุ้นยุโรป กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ปิดลบราว 0.76% ซึ่งหุ้นส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial) อาทิ Bayer -1.42%, Airbus -1.24% รวมถึง หุ้นในกลุ่มธนาคารและการเงินที่ทยอยปรับตัวลดลง (BNP Paribas -1.12%, Allianz -1.08%, Safran -1.08%) 


นอกจากนี้ ภาพตลาดที่เริ่มกลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น ยังสะท้อนผ่านตลาดฟิวเจอร์ โดย ฟิวเจอร์ดัชนีตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ฟิวเจอร์ดัชนี Downjones, S&P500 และ Nasdaq ก็ล้วนปรับตัวลดลงเล็กน้อย 


อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมจะไม่สดใสนัก ทว่าในฝั่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ต่างก็ปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า 1% หลังจากที่กลุ่ม OPEC+ เปิดเผยในรายงานว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังมองว่า ตลาดน้ำมันโลกอาจเผชิญภาวะตึงตัว เนื่องจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของความต้องการใช้น้ำมัน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันในอัตราเฉลี่ย 1.4 ล้านบาร์เรลต่อปี


อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการประชุมรายเดือนของสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในวันนี้ เพื่อติดตามแผนการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ที่คาดว่าจะมีการทยอยเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึง แนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตและส่งออกน้ำมันของอิหร่าน


ในส่วนตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 89.79 จุด กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) สุ่ระดับ 1.2229 ดอลลาร์ต่อยูโร และ เงินปอนด์ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4224 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและอังกฤษ  


สำหรับวันนี้ ผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่จะยังคงติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนผ่าน การขยายตัวของทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยในเดือนพฤษภาคม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (ISM Manufacturing PMI) จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.9 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) 


ส่วนในฝั่งเอเชียตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอาจจะเริ่มส่งสัญญาณทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ หลังจากที่ออสเตรเลียสามารถคุมสถาณการณ์การระบาดของ COVID-19 และแจกจ่ายวัคซีนได้ดี


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท  โดยรวมค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ เพราะแม้ว่าเงินบาทจะได้รับแรงหนุนฝั่งแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ (ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท) แต่ค่าเงินบาทก็ยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ไทย  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ข่าวแนะนำ