TNN online เงินบาทวันนี้เปิดแข็งค่า 31.27 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยง

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทวันนี้เปิดแข็งค่า 31.27 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยง

เงินบาทวันนี้เปิดแข็งค่า 31.27 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง หวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกทยอยคลายล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จับตาโควิดระบาดในเอเชีย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  (ระดับปิดวันที่ 25 พฤษภาคม)


ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งภาพดังกล่าวหนุนให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีก (Retail) และ กลุ่มพลังงาน ปรับตัวขึ้นนำตลาด อาทิ หุ้น Bed Bath & Beyond ที่พุ่งขึ้น 11.6% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ Russell 2000 ปรับตัวขึ้นกว่า 1.89% ตามด้วย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ปิดบวกกว่า 0.59% ขณะที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 0.2% 


ขณะที่ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงเล็กน้อยราว 0.11% จากแรงขายทำกำไรตลาดหุ้นยุโรป หลังจากที่หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นโลกเกือบ 10% นับตั้งแต่ต้นปี โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารและการเงินปรับตัวลดลง (BNP Paribas -1.35%, Intesa Sanpaolo -0.64%, ) เช่นเดียวกับ หุ้นในกลุ่มเทคฯ (ASML -0.99%, Infineon Tech. -0.98%) ที่ย่อตัวลงเช่นกัน โดยภาพดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของนักลงทุนสถาบันที่มองว่า Upside ของหุ้นยุโรป ณ สิ้นปีนี้ อาจเหลือเพียง 2% เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะถัดไปอาจไม่ได้โดดเด่นไปจากที่ตลาดมองไว้มากนัก  


ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงยืนกรานว่า แนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราวและเฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ แต่ภาพรวมตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็ได้ทำให้ ผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไรบอนด์ 10 ปี กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 2bps สู่ระดับ 1.58% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ยีลด์ 10 ปี จะแกว่งตัวในกรอบ เพราะผู้เล่นในตลาดจะใช้กลยุทธ์ Buy on Dip และ Sell on Rally สำหรับบอนด์ระยะยาวในช่วงที่ยีลด์มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแบบ Sideways Up 


นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี และการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงใกล้สิ้นเดือน ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 90.04 จุด กดดันให้สกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.219 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 109.2 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 1,897 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 


สำหรับวันนี้ ผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่จะยังคงติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย การจ้างงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.3 แสนราย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ (PCE) มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนเมษายน จากระดับ 2.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำมากในปีก่อนหน้า


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามทิศทางของเงินดอลลาร์และแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า นอกจากนี้ ต้องติดตามปัญ หาการระบาดของ COVID-19 ในเอเชียที่จะยังคงกดดันสกุลเงินเอเชียให้ยังคงผันผวน โดยในฝั่งไทย ต้องติดตามแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ 


อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็จะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ (ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท) รวมถึง ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 




ข่าวแนะนำ