TNN online เงินบาทแข็ง ! หลังดอลลาร์อ่อน-นักลงทุนเทขายทำกำไรทองคำ

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็ง ! หลังดอลลาร์อ่อน-นักลงทุนเทขายทำกำไรทองคำ

เงินบาทแข็ง !  หลังดอลลาร์อ่อน-นักลงทุนเทขายทำกำไรทองคำ

เงินบาทเปิดตลาด เช้านี้ที่ระดับ 31.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินคลายกังวลเงินเฟ้อ- ปรับลดคิวอีสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดยันใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ชี้แนวโน้มบาทแข็งจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ-ดอลลาร์่อ่อนค่า

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดการเงินโดยรวมกลับมากล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นอีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและลดความกังวลว่าเฟดอาจรีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดการทำคิวอีในปีนี้ 


ซึ่งภาพดังกล่าว หนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวขึ้นนำตลาด และช่วยทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวกกว่า 1.41% ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ก็ปิดบวกราว 1% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ที่มีสัดส่วนหุ้นเทคฯ น้อยกว่า ก็ยังสามารถรีบาวด์ 0.54% ด้วยแรงหนุนจาก การรีบาวด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอาจจะยังไม่สามารถบรรลุได้ในระยะสั้น ลดโอกาสที่อิหร่านจะกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันได้เร็ว


ส่วนทางฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็ปรับตัวขึ้นราว 0.5% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มเทคฯ (ASML +2.1%, Adyen +0.93%) และการเดินหน้าปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อย่าง กลุ่มการเงิน อาทิ หุ้นแบงก์ (Intesa Sanpaolo +1.05%, BNP Paribas +0.85%) เป็นต้น


ทางด้านตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยืนกรานว่า แนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราวและเฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ช่วยทำให้ตลาดคลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อรวมถึงโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ซึ่งภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดบอนด์กล้าที่จะกลับเข้ามาเพิ่มสถานะการถือครองบอนด์ระยะยาวมากขึ้น กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.60%


นอกจากนี้การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ล่าสุดย่อตัวลงสู่ระดับ 89.84 จุด ส่วนสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2216 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 108.7 เยนต่อดอลลาร์


สำหรับวันนี้ผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่จะยังคงติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Esther George, Charles Evans เป็นต้น เพื่อจับตามุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงโอกาสที่เฟดจะปรับลดการทำคิวอี 


ส่วนในฝั่งยุโรป  ตลาดมองว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ โดยในฝั่งเยอรมนี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีโดยสถาบัน IFO (IFO Business Climate) จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 98 จุด ในเดือนพฤษภาคม


สำหรับในฝั่งไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่ายอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 9.4%y/y ขณะที่ยอดนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออกจะโตกว่า 23% ส่วน ดุลการค้าจะเกินดุลกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทควรจับตาทิศทางของเงินดอลลาร์และแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียให้ดี โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลง ถ้าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาจกดดันเงินดอลลาร์ หากเฟดยืนกรานไม่รีบปรับลดคิวอี อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจกดดันสกุลเงินเอเชียให้ยังคงผันผวนและไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งต้องติดตามแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ 


อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ (ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท) หลังจากที่ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ข่าวแนะนำ