TNN online ​จับตาดอลลาร์-แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชียชี้ทิศทางเงินบาท

TNN ONLINE

Wealth

​จับตาดอลลาร์-แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชียชี้ทิศทางเงินบาท

​จับตาดอลลาร์-แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชียชี้ทิศทางเงินบาท

ค่าเงินบาทวันนี้เปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ​จับตาทิศทางดอลลาร์-แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชีย-ถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟต่อมุมมองเศรษฐกิจ-ปรับลดคิวอีส่งผลต่อสกุลเงินในเอเชีย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า โดยแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ควรจับตาทิศทางของเงินดอลลาร์และแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียให้ดี โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลง ถ้าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาจกดดันเงินดอลลาร์ หากเฟดยืนกรานไม่รีบปรับลดคิวอี 


อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจกดดันสกุลเงินเอเชียให้ยังคงผันผวนและไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งต้องติดตามแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลง ทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้  


โดยมองว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก โดยแนวต้านสำคัญเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 31.50-31.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เพราะผู้ส่งออกจำนวนมากต่างก็รอทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับดังกล่าว นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ (ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท) หลังจากที่ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์  มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.20-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30-31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 



อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตและบริการในสหรัฐฯและยุโรป หลังจากทั้งสองภูมิภาคเร่งแจกจ่ายวัคซีนได้ดี ทำให้รัฐบาลสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก


สำหรับสัปดาห์นี้มองว่า ตลาดจะติดตามจับตา ปัญหาการระบาด COVID-19 ในเอเชีย และ การฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ยุโรป พร้อมทั้ง ติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด  ทั้งนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีดังนี้ 


ในฝั่งสหรัฐฯ แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนพฤษภาคม ยังอยู่ในระดับสูงราว 119 จุด นอกจากนี้การจ้างงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นจะส่งผลให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.3 แสนราย


ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อ (PCE) มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนเมษายน จากระดับ 2.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำมากในปีก่อนหน้า อนึ่ง แนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อจะทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Mester, Bostic ในวันจันทร์ ตามด้วย Barkins, Evans, George และ Quarles ในวันอังคาร เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะ การปรับลดคิวอี (QE Tapering)


ส่วนในฝั่งยุโรปตลาดมองว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ โดยในฝั่งเยอรมนี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีโดยสถาบัน IFO (IFO Business Climate) จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 98 จุด ในเดือนพฤษภาคม


ทางด้านเอเชีย ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในหลายพื้นที่ของเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย จะกดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% ส่วนประเทศที่มีปัญหาการระบาดไม่มากนัก อย่าง นิวซีแลนด์ และ เกาหลีใต้ ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศก็จะยังคงไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย เช่นกัน เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ส่วนธนาคารกลางเกาหลีใต้ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%


 ฝั่งไทยตลาดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งยอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 9.4%y/y ขณะที่ยอดนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออกจะโตกว่า 23% ส่วน ดุลการค้าจะเกินดุลกว่า 600 ล้านดอลลาร์


ข่าวแนะนำ