TNN online โควิดระลอก 3 หนุนธุรกรรมการเงินผ่านMobile Banking และ e-Wallet โตพุ่ง

TNN ONLINE

Wealth

โควิดระลอก 3 หนุนธุรกรรมการเงินผ่านMobile Banking และ e-Wallet โตพุ่ง

โควิดระลอก 3 หนุนธุรกรรมการเงินผ่านMobile Banking และ e-Wallet โตพุ่ง

โควิดระลอก 3 ดันยอดการใช้ Mobile Banking และ e-Wallet เติบโต คาดปี 2564 ปริมาณการทำธุรกรรมไร้สัมผัส-ออนไลน์ จะขยายตัว 80.2 – 83.5% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 79.7 %

วันนี้( 8 พ.ค.64) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองและสามตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet กลับได้รับอานิสงส์ให้เติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ รวมถึงมีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าวมากขึ้น 

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย  พบว่า ปริมาณการใช้งานผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ยังคงเติบโต ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมมีการโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Mobile banking และ e-Wallet อยู่ที่ 19 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเพิ่มมากกว่าผลสำรวจการใช้งานภายหลังจากการระบาดระลอกแรกในเดือนสิงหาคม 2563 ที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 17 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่มีผู้บริโภคกว่าร้อยละ 53.9 มีการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาจากกล่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่จำกัด อาทิ พนักงานบริษัทขนาดใหญ่ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ยังเห็นการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะของการ Work from Home และการลดการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่ ผู้บริโภคที่ซื้อเพิ่มขึ้นนี้มียอดการซื้อต่อครั้งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 350 บาท โดยยังคงเน้นการใช้จ่ายไปที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสินค้าแฟชั่น เหมือนดังการสำรวจรอบก่อนหน้า


 อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบกับผู้บริโภคบางส่วน ทำให้รายได้ลดลงอันเนื่องมาจากถูกลดเงินเดือนหรือยอดขายสินค้าลดลง หรือขาดรายได้อันเนื่องมาจากตกงาน สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า มีผู้บริโภคราวร้อยละ 8.3 ที่มีการใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ลดลง โดยมียอดซื้อต่อครั้งลดลง 600 บาท


โดยMobile Banking ของสถาบันการเงินต่างๆ ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคไทย ซึ่งส่วนหนึ่งคงมีสาเหตุจากการที่สถาบันการเงินมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่ ฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Mobile Banking ก็เป็นที่เข้าใจง่าย ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวในการใช้งานได้เร็ว นอกจากนี้ ผู้บริโภคไทยยังคงนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Commerce) อาทิ Facebook, Instagram หรือ LINE ซึ่งร้านค้าหรือผู้ขายมักมีการรับชำระค่าสินค้าผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ Mobile Banking ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง


ข้อมูลปริมาณธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Mobile Banking และ e-Money ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวราวร้อยละ 90.2 และ 28.9 ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 65.6 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ  เนื่องมาจากความกังวลต่อการเชื้อไวรัสที่อาจมาจากธนบัตร และผู้บริโภคทั่วไปก็เริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้ Mobile Banking และ e-Wallet มากขึ้น โดยเฉพาะจากการใข้แอปพลิเคชัน G-Wallet (เป๋าตัง) จากเงินช่วยเหลือภาครัฐในตลอดช่วงปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการ e-Wallet ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ให้สามารถชำระเงินผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ได้ง่ายและสะดวกขึ้น และผู้ประกอบการเองก็ได้มีการออกโปรโมชั่นลดราคาค่าสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้รายใหม่ ทำให้มีจำนวนผู้ใช้รายใหม่และปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า ปริมาณการทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Mobile Banking ในปี 2564 จะขยายตัวราวร้อยละ 80.2 – 83.5 YoY ซึ่งเร่งขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 79.7 โดยส่วนหนึ่งจะเป็นอานิสงส์ทางอ้อมจากโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่นเดียวกับประมาณธุรกรรมผ่าน e-Money ที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 15.8 – 18.0 ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่ร้อยละ 8.7 (แม้อัตราการเติบโตของทั้งปี 2564 ดังกล่าว มีโอกาสจะชะลอลงจากตัวเลขที่ปรากฏในช่วงสองเดือนแรกของปี 2564 รวมถึงในช่วงไตรมาส 2 ของปี หากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้มากขึ้น จนมีผลให้พนักงานกลับไปทำงานในที่ทำงานมากขึ้น)


อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยโดยภาพรวม เพียงแต่อาจเป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ที่เพิ่มขึ้นนั้น น่าจะมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการใช้จ่ายด้วยเงินสดลดลง มากกว่าจะเป็นการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่บนความไม่แน่นอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการ e-Wallet หรือแม้แต่ Mobile Banking อาจต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากในระยะข้างหน้า จากการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด เนื่องจากผู้บริโภคมีทิศทางเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว และน่าจะมีความอ่อนไหวต่อกลยุทธ์ทางการตลาด โดยพร้อมที่จะเปลี่ยนแอปพลิเคชันที่ใช้งานเดิม หากมีแรงจูงใจจากการใช้งานที่สะดวกสบายขึ้น มีโปรโมชั่นลดราคาค่าสินค้าและบริการ หรือมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ





ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง