TNN online เช็กเลย รายละเอียดมาตรการพักชำระหนี้-สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ระลอกใหม่

TNN ONLINE

Wealth

เช็กเลย รายละเอียดมาตรการพักชำระหนี้-สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ระลอกใหม่

เช็กเลย รายละเอียดมาตรการพักชำระหนี้-สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ระลอกใหม่

คลัง แจงรายละเอียดมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ พร้อมขอผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก

วันนี้( 6 พ.ค.64) กระทรวงการคลังได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการานการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่  ที่คณะรัฐมนตรี( ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวานนี้( 5 พ.ค.) โดยมาตรดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปีปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก  ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี 

สำหรับเงื่อนไขผู้ที่ร่วมมาตรการดังกล่าว จะต้องผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ  ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64   ทั้งนี้คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ประมาณ1 ล้านคน โดยรัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

2. มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินไปและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อยเพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่

1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 

2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย

 4) มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

 5) การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ 

และ 6) การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2564 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุดมีการแพร่ระบาดทั้งในแหล่งที่พักอาศัยและในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและแม้ว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วแต่สถานการณ์ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยังอยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเมื่อวันที่   5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-bank เป็นต้น เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้ อาจให้ความสำคัญกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อยในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

สำหรับประชาชนที่ต้องการข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ 

  • ธนาคารออมสิน  คลิก  https://www.gsb.or.th/    โทร. 1115
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คลิก  https://www.baac.or.th/th/index.php?cover_page=1   โทร. 02-555-0555
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์   คลิก https://www.ghbank.co.th/   โทร. 0-2645-9000
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คลิก  https://www.smebank.co.th/ โทร. 1357
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  คลิก https://www.exim.go.th/th/  โทร. 0-2617-2111
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  คลิก https://www.ibank.co.th/th  โทร. 1302
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม คลิก https://www.tcg.or.th/  โทร. 0-2890-9999




ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง