TNN online หวั่นโควิดยืดเยื้อเลวร้ายหนัก!ต่างชาติขนเงินกลับฉุดบาทอ่อน

TNN ONLINE

Wealth

หวั่นโควิดยืดเยื้อเลวร้ายหนัก!ต่างชาติขนเงินกลับฉุดบาทอ่อน

หวั่นโควิดยืดเยื้อเลวร้ายหนัก!ต่างชาติขนเงินกลับฉุดบาทอ่อน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หวั่นโควิดระบาดเลวร้ายลงหนักต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทยวันละไม่ต่ำกว่า 1.5-2 พันล้านบาทกดดันให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่า

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยแนวโน้มค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ 31.30-31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมของเฟด (ซึ่งจะทราบผลในเวลาประมาณ ตี 1 ของวันพรุ่งนี้) อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน ค่าเงินบาทอาจมีความผันผวน จากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย กดดันให้เงินบาทอาจอ่อนค่ากลับไปแถว 31.40-31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ   ซึ่งเราคาดว่าเงินบาทก็จะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.45-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ    


อย่างไรก็ดี ต้องระวังกรณีที่สถานการณ์การระบาดเลวร้ายลงหนัก จนนักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทยวันละไม่ต่ำกว่า 1.5-2 พันล้านบาท เพราะในกรณีดังกล่าว แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทรงตัวไม่ไปไหน แต่ฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30 - 31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


สำหรับผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่กลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้นและไม่กล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดจะรอคอยผลประกอบการของบริษัทเทคฯ  ขนาดใหญ่ อาทิ Apple , Facebook   และ Amazon ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมาแล้วนั้นก็ไม่ได้ผลักดันตลาดหุ้นเท่าที่ควร เพราะตลาดได้รับรู้ไปบ้างแล้ว (Priced in) ตลาดจึงคาดหวังว่าผลกำไรจะออกมาดีกว่าที่ได้ประกาศไปมาก


นอกจากนี้ ตลาดยังคงรอฟังถ้อยแถลงของประธานเฟด หลังการประกาศผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC)  ก่อนจะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นตลาด ได้ส่งผลให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ย่อตัวลงเล็กน้อย ราว 0.02% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปิดลบราว 0.34%  ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดก็เลือกที่จะขายทำกำไร ลดความเสี่ยงลงมาบ้าง ทำให้ดัชนีหุ้นยุโรป STOXX50 ย่อตัวลง 0.22%


อย่างไรก็ดี แม้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงจะย่อตัวลงมาบ้างและผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดก็อยู่ในโหมดระมัดระวังตัว ทว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับปรับตัวขึ้นกว่า 5bps สู่ระดับ 1.62% หลังจากที่รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ในเดือนเมษายน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 121.7 จุด มากกว่าที่ตลาดคาดไว้เพียง 112 จุด สะท้อนภาพการฟื้นตัวแข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้เฟดมีการปรับมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ดีขึ้นในการประชุมสัปดาห์นี้และรอบถัดไป 


ทางด้านตลาดค่าเงิน ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ก่อนที่เงินดอลลาร์จะย่อตัวมา หลังตลาดยังรอคอยผลการประชุม FOMC รวมถึง ปัจจัยใหม่ๆ  ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากวันก่อนหน้ามากนัก (ดัชนี DXY ทรงตัวที่ระดับ 90.90 จุด) 


สำหรับวันนี้เราคาดว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปเป็นหลัก โดยตลาดประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกกว่า 6.9% จากไตรมาสก่อนหน้าและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตถึง 6.4%y/y ในปีนี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวแข็งแกร่งและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่เรามองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) จะไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยในการประชุมครั้งนี้ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Target Rate) ที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมทั้งคงอัตราการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) โดยจังหวะที่ควรจับตาการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดอาจจะเป็นช่วงงานประชุมประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole 


ส่วนในฝั่งยุโรป ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี จะกดดันให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในยูโรโซน (Consumer Confidence) เดือนเมษายน อาจทรงตัวที่ระดับ -8.0 จุด ซึ่งยังคงสะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของผู้บริโภค



ข่าวแนะนำ