TNN online วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

TNN ONLINE

Wealth

วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

รู้หรือไม่ว่า กาแฟแต่ละแก้วที่เราดื่มกันนั้น มีต้นทุนเรื่องโลกร้อนแฝงอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่กระบวนการปลูก คั่วบด ขนส่ง จนถึงเป็นแก้วพร้อมเสิร์ฟอยู่ตรงหน้า

ทุกวันนี้ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟแพร่หลายไปทั่วโลก เฉพาะในบ้านเราก็มีร้านกาแฟผุดขึ้นแทบทุกหัวระแหง ตอบโจทย์คอกาแฟทุกกลุ่ม แต่รู้หรือไม่ว่า กาแฟแต่ละแก้วที่เราดื่มกันนั้น มีต้นทุนเรื่องโลกร้อนแฝงอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่กระบวนการปลูก คั่วบด ขนส่ง จนถึงเป็นแก้วพร้อมเสิร์ฟอยู่ตรงหน้า

วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

ผลการศึกษาจาก University College London (UCL) ที่จัดทำโดย “มาร์ก มาสลิน” และ “คาร์เมน แน็บ” เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ระบุว่า กาแฟแต่ละแก้วมีต้นทุนโลกร้อนแฝงอยู่จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการทั้งหมด โดยเมื่อเทียบน้ำหนักเท่าๆ กัน กาแฟที่ปลูกแบบยั่งยืนน้อยสุดจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากพอๆ กับการผลิตชีส และมีคาร์บอนฟุตพรินต์ราวครึ่งหนึ่งของเนื้อวัว ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ที่สำคัญ นี่เป็นการวัดเฉพาะตัวกาแฟ ไม่รวมที่เติมนมลงไป

วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก


เมื่อดูข้อมูลในปี 2561 กาแฟมีสัดส่วน 0.17% ของการค้าทั้งโลก และนับเป็นสินค้าเกษตรที่มีการค้าขายมากสุดเป็นอันดับ 70 โดยทั่วโลกผลิตกาแฟมากกว่า 9.5 พันล้านกิโลกรัม มีมูลค่าการค้าราวๆ 3.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดกันว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ภายในปี 2593 เท่ากับว่ากาแฟมีบทบาทต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำร้ายโลกเพิ่มขึ้น 


ผลการวิจัยคำนวณและเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดจากการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ระหว่างการปลูกแบบดั้งเดิมและแบบยั่งยืน ซึ่งเหตุผลที่เลือกกาแฟอาราบิก้า เพราะเป็นที่นิยมมากกว่า โดยมีสัดส่วนราว 70% ของการปลูกกาแฟทั้งโลก ส่วนอีก 30% เป็นพันธุ์โรบัสต้าและสายพันธุ์อื่นๆ 


วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

รายงานชิ้นนี้โฟกัสข้อมูลการผลิตกาแฟจากแหล่งปลูกขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ บราซิล และเวียดนาม โดยเฉพาะบราซิล ในฐานะประเทศผู้ปลูกกาแฟรายใหญ่สุดของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดราวๆ 30% ขณะที่เมื่อนับจากปี 2551 เป็นต้นมา การผลิตกาแฟในบราซิลและเวียดนามขยายตัว 60% และ 165% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการผลิตระหว่าง 2533-2550 

วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 บราซิลผลิตกาแฟมากกว่า 3 ล้านตัน ซึ่งราว 60% ส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนเวียดนามผลิตกาแฟได้ 1.8 ล้านตัน และส่งออกราวๆ 80%

รายงานฉบับนี้ประเมินกระบวนการปลูกกาแฟอาราบิก้าจากบราซิลและเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศปลูกกาแฟ รวมกันมากกว่า 50% ของกาแฟอาราบิก้าทั้งโลก และส่งออกไปยังอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศที่บริโภคกาแฟในอันดับต้นๆ ของโลก นอกเหนือจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐฯ ที่นำเข้ากาแฟรวมกันมากถึง 2 ใน 3 ของกาแฟที่ปลูกทั้งโลก


วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

โดยกาแฟอาราบิก้าทุกๆ 1 กิโลกรัมที่ปลูกใน 2 ประเทศดังกล่าว และส่งออกไปยังอังกฤษ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 15.33 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นการวัดจากเมล็ดกาแฟก่อนผ่านการคั่ว และใช้วิธีปลูกแบบดั้งเดิม 


แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกกาแฟ การขนส่ง รวมถึงการบริโภค จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 77% ของวัฏจักรกาแฟทั้งหมด เช่น การใช้ปุ๋ยน้อยลง บริหารจัดการการใช้น้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการบด และส่งออกโดยใช้เรือคาร์โก้แทนเครื่องบิน ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 3.51 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกกาแฟแบบดั้งเดิมในบราซิลและเวียดนาม กาแฟจากบราซิลสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ 16.04 กิโลกรัมต่อกาแฟอาราบิก้า 1 กิโลกรัม ส่วนกาแฟจากเวียดนามอยู่ที่ 14.61 กิโลกรัม โดยการขนส่งมีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ราว 70% เมื่อเทียบกับขั้นตอนอื่นๆ ในวัฏจักรกาแฟ แต่หากใช้การปลูกแบบยั่งยืน กาแฟบราซิลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 3.37 กิโลกรัม และกาแฟเวียดนามอยู่ที่ 3.64 กิโลกรัม ซึ่งกระบวนการแปรรูปจะมีสัดส่วนในการทำร้ายโลกมากสุดราวๆ 91% สำหรับกาแฟบราซิล และ 84% สำหรับกาแฟเวียดนาม


วัฏจักรกาแฟมี 4 ขั้น ได้แก่ การผลิต การขนส่ง การคั่ว และการบริโภค โดยกระบวนการ 3 ขั้นแรกจะสร้างก๊าซเรือนกระจกให้ผลิตภัณฑ์กาแฟเท่าๆ กัน ยกเว้นขั้นสุดท้ายที่จะแตกต่างกันตามผลิตภัณฑ์กาแฟประเภทต่างๆ แบ่งเป็นกาแฟสด กาแฟดริป กาแฟสำเร็จรูป กาแฟกระป๋อง ซึ่งจะใช้ส่วนผสม บรรจุภัณฑ์ การกระจายสินค้า การจัดเก็บ แตกต่างกัน


วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

โดยเฉลี่ยแล้วกาแฟ 1 แก้ว ใช้เมล็ดกาแฟราว 18 กรัม ดังนั้น เมล็ดกาแฟ 1 กิโลกรัม จะสามารถชงเอสเปรสโซได้ 56 ช็อต ซึ่งเอสเปรสโซแต่ละช็อตปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ราวๆ 0.28 กิโลกรัม แต่ตัวเลขนี้จะลดลงเหลือ 0.06 กิโลกรัม หากใช้กระบวนการปลูกอย่างยั่งยืน


สำหรับคนที่ชอบกินกาแฟใส่นม จะมีส่วนทำให้โลกร้อนมากกว่าคนดื่มกาแฟดำ เพราะนมวัวมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง โดยกาแฟ “ลาเต้” มีคาร์บอนฟุตพรินต์สูงสุด 0.55 กิโลกรัม ตามด้วย “คาปูชิโน” 0.41 กิโลกรัม และ “แฟลตไวต์” (คล้ายลาเต้แต่ไม่มีฟองนม) อยู่ที่ 0.34 กิโลกรัม  หากกระบวนการผลิตกาแฟมีความยั่งยืน การปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์จะลดลง “ลาเต้” จะอยู่ที่ 0.33 กิโลกรัม ตามด้วย “คาปูชิโน” 0.2 กิโลกรัม และ “แฟลตไวต์” 0.13 กิโลกรัม


ในส่วนการผลิตกาแฟแบบดั้งเดิม เมื่อเทียบกาแฟเอสเปรสโซกับกาแฟใส่นม พบว่า คาร์บอนฟุตพรินต์จะเพิ่มขึ้น 25% ในกรณีของกาแฟแฟลตไวต์ // ส่วนคาปูชิโนเพิ่มขึ้น 50% // และลาเต้เพิ่มขึ้น 100%  เมื่อเทียบการผลิตกาแฟแบบยั่งยืน ระหว่างเอสเปรสโซกับกาแฟใส่นม คาร์บอนฟุตพรินต์จะเพิ่มขึ้น 205% ในกรณีของกาแฟแฟลตไวต์// หากเป็นคาปูชิโนจะเพิ่มขึ้น 315% // และลาเต้เพิ่มขึ้น 530% 


  วัฒนธรรม “กาแฟ” แฝงต้นทุนทำร้ายโลก

ขณะที่มีหลายวิธีในการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์จากการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะ 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มากสุด ปัจจัยแรก คือ การขนส่ง ซึ่งถ้าใช้การขนส่งทางเรือจากประเทศผู้ผลิตในบราซิลหรือเวียดนามไปยังอังกฤษ แทนการขนส่งด้วยเครื่องบิน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ลง 10.3-11.3 กิโลกรัมต่อกาแฟ 1 กิโลกรัม แม้การขนส่งทางเรือจะใช้เวลานานกว่าก็ตาม


ปัจจัยที่ 2 การใช้ขยะอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ 0.95 กิโลกรัม โดยเฉพาะในเวียดนามที่มีข้อมูลว่า เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินค่าเฉลี่ยในการปลูกกาแฟ ซึ่งจะส่งผลให้ปนเปื้อนแหล่งน้ำใกล้เคียง ซึ่งหากลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ อาจจะลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ลงได้ราวๆ 12%


นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีหลายวิธีที่จะช่วยลดการทำร้ายโลกในวัฏจักรกาแฟลงได้ เช่น การคั่วกาแฟจากประเทศต้นทางที่ผลิตเพื่อให้มีน้ำหนักเบาขึ้นในการขนส่ง เท่ากับเรือจะใช้พลังงานน้อยลงเมื่อเทียบกับการขนส่งกาแฟในปริมาณเท่ากัน //ลดการใช้บรรจุภัณฑ์และเปลี่ยนไปใช้วัสดุรีไซเคิลแทน // การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น


การลดการปล่อยคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่อุตสาหกรรมกาแฟยังมีปัญหา การละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น มลพิษทางน้ำ และการทำลายพื้นที่อยู่อาศัยจากการเพาะปลูกกาแฟที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีแผนเพื่อให้มั่นใจว่า การผลิตกาแฟเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม ตั้งแต่ต้นทางของเมล็ดกาแฟจากแหล่งเพาะปลูกไปจนถึงชั้นวางจำหน่าย เพื่อทำให้ผู้ซื้อเชื่อมั่นว่าการดื่มกาแฟแต่ละแก้วนั้นไม่ได้ทำร้ายโลก

ข่าวแนะนำ