TNN online เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยง กรณีเลวร้ายจีดีพีติดลบ

TNN ONLINE

Wealth

เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยง กรณีเลวร้ายจีดีพีติดลบ

เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยง  กรณีเลวร้ายจีดีพีติดลบ

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยโตเพียง 3% เหตุอนุมัติโครงการพ.ร.บ.กู้เงินฯ ล่าช้า-ธุรกิจเจ๊ง ระบุหากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าคาดจีดีพีเสี่ยงติดลบ 1.7%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ได้เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมว่า มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงส่งผลให้จีดีพีต่ำกว่าประมาณการการขยายตัวที่ 3% ในปีนี้เป็นผลมาจาก การทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด    แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือล่าช้า      .


นอกจากนี้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง  ขณะที่ อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้นมากหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง ดังนั้นได้วิเคราะห์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า (scenario analysis)  โดยคำนึงถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ  ซึ่งแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีฐาน กรณีเลวร้าย และกรณีเลวร้ายที่สุด โดยปี  64 ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ในช่วง 1 แสนคนถึง 3 ล้านคน ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างติดลบ 1.7% ถึงขยายตัว  3% และปี  65 ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ในช่วง 1 แสนคนถึง 21.5 ล้านคน ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างติดลบ 0.3% ถึงขยายตัว 4.7% 

 

อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ที่ไม่เข้มงวดเท่าปีก่อนหน้า แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติม และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับปี  65 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว  4.7 %  ต่ำลงจากการประเมินครั้งก่อนเล็กน้อยที่คาดว่าโต 4.8%  จากการปรับลดประมาณการรายจ่ายภาครัฐปีงบประมาณ  65 


ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะฟื้นตัวภายหลังการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงทั้งในไทยและต่างประเทศจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการระบาดในช่วงครึ่งหลังของปี  65ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่  10 %  และ ในปี 65 อยู่ที่  6.3% จากด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และจากด้านปริมาณที่ขยายตัวดีขึ้นมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

ข่าวแนะนำ