TNN online เงินบาทแข็งค่า! คลายกังวลบอนด์ยีลด์สหรัฐ

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็งค่า! คลายกังวลบอนด์ยีลด์สหรัฐ

เงินบาทแข็งค่า!  คลายกังวลบอนด์ยีลด์สหรัฐ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตลาดเปิดรับความเสี่ยงรับข่าวเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นต้วแข็งแกร่ง ขณะที่บอนด์ยีลด์ย่อตัวลงแตะระดับ 1.67%

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า   ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น  โดยความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวแข็งแกร่งจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง


โดยล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมโดย ISM ในเดือนมีนาคมปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด สู่ระดับ 64.7 จุด ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวสูงขึ้น โดย ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 1.2% ทำจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า 1.8% โดยหุ้นเทคฯ ก็ได้รับแรงหนุนจากการที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.67%


ส่วนในฝั่งยุโรปนักลงทุนก็พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน โดย ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปิดบวก 0.7% แม้ว่าโดยรวมแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป อาจชะลอตัวลงในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19


นอกจากนี้ ในส่วนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTIยืนเหนือระดับ 61.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล    และ Brent ก็สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น  64.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้  หลังจากที่ประชุมสมาชิก OPEC+ ยังคงมองแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น  โดยการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในฝั่งสหรัฐฯ ทำให้กลุ่ม OPEC+ ตัดสินใจที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 2 ล้านบาร์เรล ในเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ซึ่งแม้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต ทว่าความต้องการน้ำมันจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าปริมาณการผลิตน้ำมัน (Supply Deficit)


ในส่วนตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงแตะระดับ 92.9 จุด ทำให้ ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) ต่างแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.383 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงได้ช่วยให้ราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมา สู่ระดับ 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 


สำหรับวันนี้มองว่าตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้น และส่งผลให้ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 6% 


อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจมีการซื้อ ขาย ที่ไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากเป็นวันหยุด Good Friday ในเทศกาลอีสเตอร์ของหลายประเทศ แต่ก็ต้องระวังความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีธุรกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน 


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทว่าการแข็งค่าดังกล่าว อาจจบลงได้หากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อาทิ รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่ออกมาดีเกินคาดไปมาก นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนเมษายน เงินบาทก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง จากแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศในช่วงการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งควรจับตา โฟลว์จ่ายปันผลในช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจมีโฟลว์จ่ายปันผลกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (โดยรวมตลอดช่วงเดือนเมษายน ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม อาจมียอดจ่ายปันผลกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท) 


ทั้งนี้มองว่าในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่ผู้นำเข้าที่ยังไม่มีภาระที่ชัดเจน อาจเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ การทำออพชั่น (Options) เพราะเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ข่าวแนะนำ