TNN online เงินบาทดีดตัวแข็งค่า ตลาดคาดหวังแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐ

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทดีดตัวแข็งค่า ตลาดคาดหวังแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐ

เงินบาทดีดตัวแข็งค่า  ตลาดคาดหวังแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยงคาดหวังแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐ 2 ล้านล้านดอลลาร์ พยุงเศรษฐกิจ จับตาประชุมโอเปกพลัส

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น  โดยความหวังว่าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Investment Plan) มูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านดอลาาร์ จากประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะสามารถช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ 


นอกจากนี้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่างยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนมีนาคมก็เพิ่มขึ้นกว่า 5.15 แสนราย  ทำให้ตลาดเชื่อมั่นในแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell2000 ปิดบวก 1.1% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 0.4% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า 1.5% หลังตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ


ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดลบเล็กน้อย 0.2% กดดันโดยแรงขายหุ้นในกลุ่มการเงินขนาดใหญ่ของยุโรปที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้การเพิ่มเงินประกัน (Margin Call) ของ Archegos Capital Management นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายทำกำไร หลังดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ ใกล้จุดสูงสุดในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19  


ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นราว 4 bps สู่ระดับ 1.74% ขณะเดียวกันตลาดก็ลดการถือครองเงินดอลลาร์ หลังจากที่ความปั่นป่วนในตลาดการเงินเริ่มลดลง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงแตะระดับ 93.2 จุด ส่งผลให้ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.378 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในขณะที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังคงอ่อนค่าลงสู่ระดับ 110.8 เยนต่อดอลลาร์  นอกจากนี้เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงได้ช่วยให้ราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาสู่ระดับ 1,708 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง 


สำหรับวันนี้เรามองว่าตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มดีขึ้น  ซึ่งในฝั่งญี่ปุ่น ผลสำรวจภาคธุรกิจ  โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นชี้ว่า บริษัทใหญ่ในภาคการผลิตจะมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มธุรกิจที่ดีขึ้น ดัชนี Tankan บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่จะปรับตัวขึ้น สู่ระดับ -1 จุด ในไตรมาสที่ 1 จาก -10 จุด จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ภาพดังกล่าวจะสะท้อนในยอดการส่งออกของเกาหลีใต้ (Exports) ในเดือนมีนาคมที่จะขยายตัวถึง 16% เช่นกัน


นอกจากนี้ตลาดจะรอติดตามผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ที่คาดว่า จะยังคงส่งสัญญาณลดกำลังการผลิตในอัตราเดิมต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมัน หลังจากที่ความต้องการน้ำมันในระยะสั้นอาจชะลอตัวลงจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในยุโรปและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวของ OPEC+ มีโอกาสช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น และเราคงมองว่า ราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทว่าโดยรวมในระยะสั้น ภาวะที่เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าหรือทรงตัวในกรอบปัจจุบัน จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะทำให้โอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องก็จะมีน้อย 


นอกจากนี้ในช่วงกลางเดือนเม.ย.เงินบาทก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง จากแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศในช่วงการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งคาดว่าในบางสัปดาห์อาจมีโฟลว์จ่ายปันผลกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (โดยรวมตลอดช่วงเดือนเม.ย. ถึงสิ้นเดือนพ.ค. อาจมียอดจ่ายปันผลกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมองว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่ผู้นำเข้าที่ยังไม่มีภาระที่ชัดเจน อาจเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ การทำออพชั่น (Options) เพราะเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้  กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ข่าวแนะนำ