TNN online ส่งออกเฮ!บาทอ่อน31บาทต่อดอลลาร์ทุบสถิติใหม่รอบ5เดือน

TNN ONLINE

Wealth

ส่งออกเฮ!บาทอ่อน31บาทต่อดอลลาร์ทุบสถิติใหม่รอบ5เดือน

ส่งออกเฮ!บาทอ่อน31บาทต่อดอลลาร์ทุบสถิติใหม่รอบ5เดือน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้อ่อนแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทุบสถิติใหม่ในรอบ 5 เดือน หลังดอลลาร์แข็ง-นักลงทุนเบนเข็มซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยผลพวงโควิดระบาดรอบใหม่ในยุโรป-อินเดียผนวกแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทุบสถิติใหม่ในรอบ 5 เดือนนับจากต.ค. 63 เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง นอกจากนี้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หลบความผันผวนจากความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 ทั่วยุโรปและอินเดีย ประกอบกับแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ  โดยบริษัทญี่ปุ่นปิดงบประมาณ เลยมีแรงซื้อเงินเยนหนุนมาตลอด แล้วก็เป็นจังหวะพอดีที่ ผู้นำเข้าบางรายเข้ามาซื้อดอลลาร์เป็นตัวฉุดบาทอ่อน

 

สำหรับตลาดการเงินกลับมาปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในฝั่งยุโรปและอินเดียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบดิ่งลง 6% โดยน้ำมันดิบเบรนท์ สู่ระดับ 60.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล   และ WTI  ลงมาอยู่ที่ 57.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  


ในฝั่งตลาดหุ้นโดยรวมต่างปรับฐานลง โดยดัชนีหุ้นเทคโนโลยี Nasdaq ปรับตัวลงกว่า 1.1% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดลบราว 0.8% ส่วน ในฝั่งยุโรป ตลาดเลือกจะปิดรับความเสี่ยงในพื้นที่ซึ่งเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น อาทิ อิตาลี (ดัชนี FTSE Milan ย่อตัวลง 0.6%) และ ฝรั่งเศส (ดัชนี CAC40 ย่อตัวลง 0.4%) ขณะที่ ดัชนี DAX ของเยอรมนี ปิดบวกราว 0.03% ทำให้โดยรวม ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวราว 0.2%


ส่วนตลาดบอนด์ ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.62% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้แสดงความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในอนาคต แม้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกสะดุดลงจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทั่วโลก


นอกจากนี้ผลการประมูลบอนด์ 2 ปี สหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาดก็ได้ช่วยหนุนให้ ตลาดคลายความกังวลปัญหาบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี   ตลาดจะรอจับตาผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ อายุ 5 ปี (วันนี้) และ 7 ปี (วันพฤหัสฯ) ซึ่งถ้าหากผลการประมูลบอนด์ออกมาดีเกินคาด หรือ ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการซื้อบอนด์ระยะยาวกลางดังกล่าว ก็อาจจะช่วยให้ ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยหรือทรงตัวได้ในระยะสั้นนี้


ด้านตลาดค่าเงิน แม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงกว่า 7bps ทว่า กลับไม่ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจาก เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด เมื่อผู้เล่นในตลาดเกิดความไม่มั่นใจขึ้น โดย ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 92.3 จุด หนุนโดยการอ่อนค่าลงกว่า 0.4% ของเงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.1844 ดอลลาร์ต่อยูโร 


อย่างไรก็ตาม วันนี้มองว่าตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Markit Manufacturing PMI) ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.5 จุด ในเดือนมีนาคม เช่นเดียวกับภาคการบริการที่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Markit Services PMI) จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 60.1 จุด  


ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่าภาคการผลิตของยุโรปจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนมีนาคม จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 57.8 จุด แม้ว่าภาคการบริการโดยรวมยังคงซบเซา ทว่าก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 46.0จุด จาก 45.7จุด ในเดือนก่อนหน้า


สำหรับไทยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% และปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาเล็กน้อย เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งนี้ ธปท. จะเลือกใช้มาตรการส่งผ่านสภาพคล่องที่มีอยู่มากในระบบการเงินไปสู่ภาคส่วนที่มีความต้องการ อาทิ มาตรการ Soft Loans, Asset Warehousing มากกว่าที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนในฝั่งข้อมูลการค้า ตลาดคาดว่า ยอดการส่งออกของไทย (Exports) จะหดตัวราว 2% จากปีก่อน สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ยอดดุลการค้า อาจมีแนวโน้มขาดดุลเล็กน้อยได้


ด้านแนวโน้มค่าเงินบาท คงผันผวนไปตามเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ในระหว่างวัน เงินบาทก็อาจอ่อนค่าลงได้ จากแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติของผู้นำเข้า รวมถึง บริษัทต่างชาติญี่ปุ่นที่อาจทยอยเข้ามาซื้อเงินเยน ในช่วงปิดปีงบประมาณของบริษัทญี่ปุ่น และ การปิดสถานะ Short USDTHB (Short covering) ของผู้เล่นต่างชาติ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องสวนทางกับมุมมองค่าเงินในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ผู้เล่นส่วนใหญ่มองว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น (Short USDTHB แล้วจะกำไรมากขึ้น ถ้าถูกทาง)


อย่างไรก็ดี  เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับใกล้ 31.00-31.10  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ   ขณะเดียวกันเชื่อว่าการอ่อนค่าเร็วของค่าเงินไม่ใช่เรื่องที่ดี ทำให้มีโอกาสที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาขายเงินดอลลาร์ (ลด Foreign Reservers) เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.95-31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ข่าวแนะนำ