TNN online เงินบาทอ่อนเฉียด31บาทต่อดอลลาร์ รับข่าวบอนด์ยีลด์พุ่ง

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทอ่อนเฉียด31บาทต่อดอลลาร์ รับข่าวบอนด์ยีลด์พุ่ง

เงินบาทอ่อนเฉียด31บาทต่อดอลลาร์ รับข่าวบอนด์ยีลด์พุ่ง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 30.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เหตุตลาดเงินผันผวนหลังบอนด์ยีลด์พุ่งแตะ 1.71% หวั่นเฟดหันกลับมาใช้นโยบายการเงินเข้มงวด ขณะที่ราคาน้ำมันดิ่งกว่า 7%

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  หลังจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเป็นผลมาจากบอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปีเร่งตัวขึ้นแตะ 1.71% ซึ่งทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรไทย ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดิ่งลงกว่า 7% กดดันหุ้นในกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้เงินทุนไหลออกส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้  


"หากยีลด์ 10 ปี ไทยปรับตัวขึ้นแรงอาจทำให้มีแรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มขึ้นกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ จากฟันด์โฟลว์ไหลออกจากทั้งฝั่งหุ้นและบอนด์ทั้งนี้มองว่า เงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลง หากอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เพราะฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว (แต่เริ่มมีคนขายน้อยลง) ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจเข้ามาช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทบ้าง ซึ่งอาจจะสะท้อนผ่านการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Reserves)"


ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.85-31  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทหากแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐถือเป็นแนวต้านสำคัญ ถ้าทะลุมีโอกาสขึ้นไปแตะ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


สำหรับตลาดการเงินยังคงเผชิญความผันผวนหนัก  ซึ่งฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังจากที่ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นกว่า 7bps แตะจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้ที่ระดับ 1.71% ท่ามกลางความกังวลของตลาดว่า เฟดอาจจะยอมให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปอีกระยะจนกว่าจะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น


นอกจากนี้ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการต่ออายุการปรับเกณฑ์คำนวณ Supplementary Leverage Ratio (SLR) การเร่งตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 3% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดลบราว 1.5% กดดันจากแรงเทขายทั้งหุ้นในกลุ่มเทคฯ และ หุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงหนัก หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป กลับปิดบวก 0.5% หนุนโดย ความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังบางประเทศ อาทิ เยอรมนีจะเริ่มกลับมาฉีดวัคซีน Astrazenecca อีกครั้ง


นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สู่จุดสูงสุดใหม่ ได้หนุนให้ ค่าเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับ สกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นกว่า 0.4% เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 91.86 จุด กดดันให้ สกุลเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.192 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.776 ดอลลาร์ต่อ AUD


ส่วนในฝั่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ต่างปรับตัวลดลงกว่า 7% สู่ระดับ 62.9 และ 59.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตามลำดับ ท่ามกลางความกังวลว่า ความต้องการน้ำมันอาจชะลอตัวลงในระยะสั้น สะท้อนผ่าน สภาวะตลาดล่วงหน้าของน้ำมันดิบ WTI ที่กลับเข้าสู่ภาพ Contango อีกครั้ง (ราคาฟิวเจอร์ระยะสั้นสุด ถูกกว่า ราคาฟิวเจอร์ระยะถัดไป) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบก็ยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์   

  

สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยตลาดมองว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อมคงเป้าหมายยีลด์ 10ปี ญี่ปุ่นไว้ที่ 0.00%+/-0.20% ตามเดิม หลังจากที่ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown  รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตและการส่งออก



ข่าวแนะนำ