เงินบาทแข็ง! เฟดไม่เร่งปรับนโยบายการเงิน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 30.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังดอลลาร์อ่อน ผลพวงเฟดยังไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แม้เศรษฐกิจฟื้นตัว
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 30.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินในช่วงคืนที่ผ่านมา เผชิญความผันผวนที่สูงขึ้น โดยในช่วงก่อนการประชุม ผู้เล่นในตลาดการเงินต่างพากันปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้ที่ระดับ 1.68% ก่อนที่ตลาดจะพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้
โดยเฟดปรับมุมมองการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น สะท้อนผ่านการปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 4.2% เป็น 6.5% ส่วนอัตราการว่างงานก็มองดีขึ้น จาก 5.0% เป็น 4.5% นอกจากนี้เฟดก็ปรับมุมมองว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น (มองเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ 2.2% จากเดิม 1.8% ) แต่ยังไม่ใช่การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเฟดต้องกังวลปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้โดยรวมเฟดยังคงไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ทั้งอัตราการซื้อสินทรัพย์ในมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าของเฟดจำนวน 7 คนมองว่า เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้ง ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก Dot Plot ครั้งก่อน 2 คน
ทั้งนี้การส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายของเฟด ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้น 0.6% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดบวกราว 0.3% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถรีบาวด์จากที่ปิดลบระหว่างวันกว่า 1% มาปิดบวกได้กว่า 0.40% หลังยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX60 ของยุโรป ทรงตัว กดดันโดย แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป ยังคงมีความไม่แน่นอนหลังหลายประเทศชะลอการฉีดวัคซีน Astrazenecca ขณะที่ ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใหม่ ก็เริ่มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
ฟากฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นส่วนใหญ่คลายความกังวล หลังเฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้น ส่งผลให้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงจากจุดสูงสุดของปีนี้ สู่ระดับ 1.64% (โดยรวมปรับตัวขึ้น 2bps จากวันก่อน)
ทั้งนี้เมื่อบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง และเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จึงอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับ สกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงมา เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 91.44 จุด ทำให้ สกุลเงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 1.198 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.78 ดอลลาร์ต่อ AUD
สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดมองว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% พร้อมทั้งคงอัตราการอัดฉีดสภาพคล่องไว้ตามเดิม หลังจากที่ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในอังกฤษทยอยลดลง นอกจากนี้ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะจับสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ผ่านรายงานข้อมูล ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ที่คาดว่าจะลดลงมาสู่ระดับ 7 แสนราย
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ แต่มองว่าเงินบาทอาจจะไม่แข็งค่าเร็วและแรง เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 30.60-30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ต้องจับตาทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ ฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น โดยเฉพาะ ฟันด์โฟลว์ในฝั่งหุ้นที่อาจจะผันผวนได้ ตามสถาน การณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศ และแผนการแจกจ่ายวัคซีนของภาครัฐ โดยฟันด์โฟลว์หุ้นจากนักลงทุนต่างชาติอาจไหลกลับเข้าประเทศไทยมากขึ้น และจะมีส่วนหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากการระบาดของ COVID-19 เริ่มลดลง และการฉีดวัคซีนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.60-30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ