TNN online ตลาดเงินลุ้นผลประชุมเฟด ชี้ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดดันบอนด์ยีลด์พุ่งต่อ

TNN ONLINE

Wealth

ตลาดเงินลุ้นผลประชุมเฟด ชี้ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดดันบอนด์ยีลด์พุ่งต่อ

ตลาดเงินลุ้นผลประชุมเฟด  ชี้ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดดันบอนด์ยีลด์พุ่งต่อ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ตลาดรอผลประชุมเฟด 18 มี.ค.นี้ ระวังความผันผวนตลาดบอนด์หากเฟดใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเร็วกว่าคาดหนุนบอนด์ยีลด์ปรับขึ้นต่อสินทรัพย์ฝั่งตลาดเกิดใหม่ถูกเทขาย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นในช่วงก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์ที่ได้ปรับตัวทำจุดสูงสุด (New High) และเลือกที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ที่เผชิญแรงเทขายหนักในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา 


โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลงราว 0.4% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลงกว่า 0.16% จากแรงขายทำกำไร หลังจากที่ดัชนีทั้งสองได้ทำจุดสูงสุดใหม่ไม่นานนี้ ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวกเล็กน้อย 0.09% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX60 ของยุโรป รับตัวขึ้นกว่า 0.6%   โดยการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการส่งออกของยุโรป 


ขณะเดียวกันภาคธุรกิจมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้นสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ZEW Survey) เดือนมีนาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 76.6 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป ยังคงมีความไม่แน่นอนหลังหลายประเทศชะลอการฉีดวัคซีน Astrazenecca ขณะเดียวกัน ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใหม่ ก็เริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส และ อิตาลี


ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเพียง 1bps สู่ระดับ 1.62% ทั้งนี้ตลาดบอนด์อาจผันผวนหนักได้ ในช่วงใกล้รู้ผลการประชุม FOMC ซึ่ง หากยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องก็อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนโดยรวมทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงได้ 


ทั้งนี้เมื่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทรงตัว และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกุมภาพันธ์ หดตัว 3.0% แย่กว่าที่ตลาดมองว่า จะหดตัวเล็กน้อย 0.5% ค่าเงินดอลลาร์จึงยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 91.86 จุด ทั้งนี้ สกุลเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.2% สู่ระดับ 1.1902 ดอลลาร์ต่อยูโร    


สำหรับวันนี้ตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งจะทราบผลในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ 18 มี.ค. โดยมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมกับเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ในอัตราเดือนละ 120 พันล้านดอลลาร์ ตามมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) แม้ว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ โดยเฟดอาจปรับประมาณการเศรษฐกิจให้ดีขึ้นจากเดือนธันวาคม


ทั้งนี้เฟดอาจเน้นย้ำว่าไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เพราะตลาดแรงงานยังไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่ง นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดควรจับตาการประชุม FOMC และต้องระวังความผันผวนในตลาดบอนด์ที่อาจเกิดขึ้น หากตลาดมองว่า เฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาด ซึ่งจะอาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งภาพดังกล่าวสามารถกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง และเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM ได้



สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนการประชุม FOMC เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ ต่างรอผลการประชุมก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าลงตามเงินดอลลาร์ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตามยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ


อย่างไรก็ดี เเงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.80-30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า ก็อาจจะไม่แข็งค่าเร็วและแรง เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 30.70บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะสั้นนี้  ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.70-30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  

ข่าวแนะนำ