TNN online ส่งออกเฮ! เงินบาทอ่อนทุบสถิติใหม่ในรอบ 4 เดือน

TNN ONLINE

Wealth

ส่งออกเฮ! เงินบาทอ่อนทุบสถิติใหม่ในรอบ 4 เดือน

ส่งออกเฮ! เงินบาทอ่อนทุบสถิติใหม่ในรอบ 4 เดือน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 30.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งต่อ คาดแรงซื้อสะสมหุ้นกลุ่ม Cyclical - Value ในฝั่งเอเชียชะลอเงินทุนไหลออก

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย.63 ที่แตะระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยตลาดการเงินยังคงผัวผวนจากความกังวลปัญหาการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาว โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้ส่งผลให้ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นเติบโตสูงยังคงเผชิญแรงเทขายหนักอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่าน ดัชนีหุ้นเทคฯของสหรัฐฯ Nasdaq ที่ดิ่งลงกว่า 2.4% 


ขณะที่ดัชนีหุ้นโดยรวมอย่าง S&P500 ย่อตัวลงเพียง 0.5% ส่วนดัชนี Dowjones ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มพลังงาน อุตสาหกรรม และการเงินที่มากกว่า สามารถปรับตัวขึ้นเกือบ 1% ส่วนในฝั่งยุโรป ความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investors Confidence) ที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.0 จุด สูงกว่าคาด แรงซื้อหุ้นในกลุ่ม Cyclical และการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ได้หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นยุโรป STOXX50 ปรับตัวขึ้นกว่า 2.6%


ในฝั่งตลาดบอนด์แรงเทขายบอนด์ระยะยาวไม่ได้รุนแรงมากเท่ากับในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ได้กดดันให้ ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กว่า 3bps สู่ระดับ 1.60% และกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก ก็ปรับตัวขึ้น เช่นกัน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แข็งค่าขึ้นกว่า 0.5% สู่ระดับ 92.3 จุด กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลง 0.5% สู่ระดับ 1.185 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 สัปดาห์ ส่วนเงินเยนก็อ่อนค่าราว 0.5% ใกล้ระดับ 109 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน


สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามความผันผวนในตลาดฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะ แรงเทขายบอนด์ระยะยาว ที่อาจยังคงมีอยู่หลังจากที่ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี  ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียยังมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อสะสมหุ้นในกลุ่ม Cyclical และ Value มากขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอแนวโน้มของเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดฝั่งเอเชียรุนแรงในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้า และช่วยทำให้ค่าเงินในฝั่งเอเชียไม่ได้อ่อนค่าไปมากจากระดับปัจจุบัน


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนในกรอบกว้าง ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ โดยค่าเงิน EM และเงินบาท อาจอ่อนค่าลงได้ หากแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก) ยังคงเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังพุ่งขึ้นต่อได้ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นฝั่งผู้ส่งออกทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งเรามองว่า ผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ในช่วงที่เงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากในระยะยาวเงินบาทยังมีแนวโน้มกลับไปแข็งค่าได้อยู่จากแนวโน้มเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่จะไหลกลับเข้าตลาดทุนไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้



ข่าวแนะนำ