TNN online เงินบาทแข็ง! ผวาเงินเฟ้อ-บอนด์ยีลด์กลับมาพุ่ง

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็ง! ผวาเงินเฟ้อ-บอนด์ยีลด์กลับมาพุ่ง

เงินบาทแข็ง! ผวาเงินเฟ้อ-บอนด์ยีลด์กลับมาพุ่ง

เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 30.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตลาดการเงินผันผวนผวาบอนด์ยีลด์-เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จับตาการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  เงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และผันผวนหนักหลังผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงกังวลปัญหาการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 


สำหรับสัปดาห์นี้มองว่าความกังวลของตลาดการเงินในสัปดาห์ก่อนหน้าจะยังคงอยู่ และควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ ทั้ง CPI และ PPI ทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ เพราะ หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น อาจกดดันให้ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นเร็วอีกครั้งได้ นอกจากนี้ตลาดจะติดตามการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสภาคองเกรสที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถผ่านได้ ภายในสัปดาห์นี้


ทั้งนี้ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้   ฝั่งสหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยการฉีดวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น (วันละ 2.16 ล้านโดส )และการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สะท้อนผ่านตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลงเหลือ 7.3 แสนราย 


นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีโอกาสผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสะท้อนผ่าน ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.7% จาก 1.4% ในเดือนก่อนและดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่จะเร่งตัวขึ้นจาก 1.7% สู่ระดับ 2.7% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจสร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินและทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วได้อีกครั้ง


ฝั่งยุโรปแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลัง การระบาดของ COVID-19 เริ่มสงบลง ไปพร้อมกับการเดินหน้าแจกจ่ายวัคซีน ทำให้บรรดานักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investors Confidence) เดือนมีนาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.4 จุด (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวก) ทั้งนี้การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจจะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยจะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ -0.50% ควบคู่ไปกับการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอี


ฝั่งไทยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48 จุด หลังยอดผู้ติดเชื้อ COVID ใหม่ทยอยลดลง และรัฐบาลก็ได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ รวมถึงมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ (ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ชะลอลงเหลือ -1.17%)


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นมีแนวโน้มที่ยังคงผันผวนในกรอบกว้าง ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ โดยค่าเงิน EM และเงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้จากแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก) ในกรณีที่ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังพุ่งขึ้นต่อได้ นอกจากนี้ฝั่งผู้นำเข้าและบริษัทต่างชาติ ยังคงทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินบาทอาจจะไม่แข็งค่าขึ้นได้มากในระยะนี้


ขณะที่ฝั่งผู้ส่งออกก็ต่างรอขายเงินดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 30.20-30.70บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากเงินบาทอ่อนค่าหลุดระดับ 30.50บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ก็มีโอกาสที่ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงไปได้ถึง โซน 30.70-30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ     ได้ ซึ่งมองว่าผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินในช่วงที่เงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากในระยะยาวเงินบาทยังมีแนวโน้มกลับไปแข็งค่าได้อยู่มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 30.20-30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.40-30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ข่าวแนะนำ