TNN online เงินบาทแข็ง! ตลาดเปิดรับความเสี่ยงลดเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็ง! ตลาดเปิดรับความเสี่ยงลดเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM

 เงินบาทแข็ง!  ตลาดเปิดรับความเสี่ยงลดเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 30.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตลาดเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง-ลดการเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM เตือนระวังความผันผวนหากยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ พุ่ง จับตาประชุมโอเปกพลัส

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  30.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินยังคงเผชิญความผันผวนจากความกังวลว่า ราคาสินทรัพย์ ณ ปัจจุบัน อาจจะดูแพงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก 


ซึ่งความกังวลดังกล่าว สอดคล้องกับการออกมาเตือนให้ระวังฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์โดยประธานคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแลด้านการธนาคารและการประกันของจีน (CBIRC) ขณะเดียวกัน มาตรวัดความร้อนแรงของตลาดโดย Bank of America Merill Lynch ก็ได้ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาด ณ ปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สูงไปมาก จนมาตรวัดดังกล่าว ส่งสัญญาณ “ขาย” สินทรัพย์เสี่ยง 


ความกังวลฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ ได้ส่งผลกระทบให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นเทคฯ รวมถึงหุ้นเติบโต กดดันให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี หุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 และ ดัชนี หุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 1.7% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ซึ่งมีหุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโตน้อยกว่ากลับปรับตัวลงเพียง 0.5% ขณะที่ในฟากตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็ได้รับแรงกดดันจากทั้งความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า ซึ่งกดดันให้ดัชนีหุ้นยุโรปทรงตัว


ด้านตลาดบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย ราว 2bps สู่ระดับ 1.40% ส่งผลให้ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลก เช่น  ยีลด์ 10 ปี เยอรมนี ก็ย่อลง 2bps แตะระดับ -0.35% ส่วน ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ย่อลงกว่า 8bps สู่ระดับ 0.68% โดนนักลงทุนบางส่วนที่มองว่ายีลด์ได้ปรับตัวขึ้นมามากแล้ว ก็เริ่มกลับเข้ามาถือบอนด์ เพื่อหลบความผันผวนจากหุ้นในช่วงระยะสั้นนี้ 


ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เมื่อยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เริ่มลดลง เงินดอลลาร์จึงอ่อนค่าลงราว 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 90.8จุด หนุนให้ เงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.4% สู่ระดับ 1.208 ดอลลาร์ต่อยูโร 


สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจดังนี้ ในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจของจีนอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมาทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) อาจชะลอลงสู่ระดับ 51 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะการขยายตัว) อย่างไรก็ดี ฝั่งสหรัฐฯ การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังดูสดใสอยู่สะท้อนผ่าน  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59 จุด และยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 1.7แสนราย ในเดือนกุมภาพันธ์


นอกจากนี้ตลาดจะติดตามการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ และตลาดการเงินได้ หากสมาชิกหลักของกลุ่ม OPEC+ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ส่งสัญญาณพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 


ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนในกรอบกว้างอยู่ และอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ในช่วงที่ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและลดการเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM  แต่ต้องระวังความผันผวนที่อาจกลับมา หากยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังพุ่งขึ้นต่อได้ ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่ดีกว่าคาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินอีกครั้ง ทำให้ สกุลเงิน EM อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ ตามแรงเทขายสินทรัพย์ EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก) 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น แต่ก็จะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต่างเริ่มทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็อาจเห็นแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ เงินเยนที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปิดปีงบประมาณของบริษัท MNC ญี่ปุ่น ขณะที่ในฝั่งผู้ส่งออกก็ไม่รีบมาขายเงินดอลลาร์ เพราะมองว่า เงินบาทยังอาจจะอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อยู่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.20-30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ข่าวแนะนำ