TNN online ผู้ส่งออกหน้าบาน! เงินบาททุบสถิติอ่อนสุดเฉียด 4 เดือน

TNN ONLINE

Wealth

ผู้ส่งออกหน้าบาน! เงินบาททุบสถิติอ่อนสุดเฉียด 4 เดือน

ผู้ส่งออกหน้าบาน! เงินบาททุบสถิติอ่อนสุดเฉียด 4 เดือน

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้แตะที่ระดับ 30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทุบสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 4 เดือนนับจาก 11 พ.ย.ปี 63 หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ-ไทยพุ่ง จับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติในระยะสั้น

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ  30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากสุดในรอบเกือบ 4 เดือน นับจาก 11 พ.ย.ปี 63 ที่แตะระดับ 30.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หรือบอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแรงมาที่ระดับ 1.40% ทำให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยถูกเทขายหุ้นและพันธบัตรทำให้ค่าเงินเอเชียกลับมาอ่อนค่า ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยแตะที่ระดับ 1.77% ในรอบ 1 ปี 7 เดือน นับจากส.ค. 62


สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักหลังยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงาน รวมถึง โอกาสที่วุฒิสภาสหรัฐฯจะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ตลาดจะติดตาม มุมมองของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อความผันผวนในตลาดการเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน 


ทั้งนี้ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้ในฝั่งสหรัฐฯ เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตและการบริการ สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (ISM Manufacturing  & Services PMIs) ที่ระดับ 58.6จุด (ดัชนีเกิน 50จุด หมายถึงการขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดแรงงานก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลงต่ำกว่า 8แสนราย ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนราย ชี้ว่า การจ้างงานเริ่มดีขึ้น ตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ดีขึ้น 


ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของ ประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดถึงแนวโน้มเศรษฐ กิจและทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งตลาดคาดว่าเฟดจะยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และหากเฟดแสดงความกังวลต่อการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์และส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมเข้ามาดูแล มุมมองดังกล่าวอาจช่วยลดความผันผวนในตลาดการเงินได้


ฝั่งยุโรป การระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงในช่วงต้นปี อาจกดดันให้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยุโรป ในเดือนมกราคม หดตัว 1.3% จากเดือนก่อน ขณะที่ ภาคการผลิตโดยรวมยังคงฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจาก ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ของเยอรมนี ในเดือนมกราคมที่จะเพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือนก่อน หลังจากหดตัวราว 2% ในเดือนธันวาคม


ฝั่งเอเชีย แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งมองว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 0.10% เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่ง 


 ในฝั่งไทยการแจกจ่ายวัคซีนที่ยังไม่แน่นอนอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์อาจลดลงสู่ระดับ 47.3จุด ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 0.20% จาก -0.34% ในเดือนมกราคม เนื่องจากการปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า 7% จากปีก่อนหน้า


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทจะผันผวนมากขึ้นและมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลง ตามเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับ สกุลเงิน EM ส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงนี้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวน   ตามยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ โดยยีลด์จะพุ่งขึ้นต่อได้ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่ดีกว่าคาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ทำให้ สกุลเงิน EM อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ ตามแรงเทขายสินทรัพย์ EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก) หากตลาดยังคงกังวลการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์


ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์แข็งค่าลง แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็จะรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่ากลับมาใกล้ 30 บาทต่อดอลลาร์ เพราะส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นในระยะยาว ซึ่งฝั่งผู้นำเข้าก็อาจเลือกที่จะรอได้ ถ้าไม่ได้มีภาระการจ่ายเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติในระยะสั้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินบาทได้บ้าง หากตลาดยังเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น ที่อาจเผชิญแรงเทขายได้ต่อในสัปดาห์นี้ มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.25-30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


ผู้ส่งออกหน้าบาน! เงินบาททุบสถิติอ่อนสุดเฉียด 4 เดือน  

ข่าวแนะนำ